4 เมษายน 2556

วัดเจ็ดยอด

วัดเจ็ดยอด

วัดเจ็ดยอด ตั้งอยู่บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์(เชียงใหม่-ลำปาง) ห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2020 โดยพระเจ้าติโลกราชกษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งราย เจดีย์เจ็ดยอด ลักษณะคล้ายกับมหาวิหารโพธิที่พุทธคยาในประเทศอินเดีย ที่ฐานเจดีย์ประดับปูนปั้นรูปเทวดา ด้านนอกพระเจดีย์ก็เช่นกันประดับงานปูนปั้นรูปเทวดาทั้งนั่งขัดสมาธิและยืน ทรงเครื่องที่มีลวดลายต่างกันไปดูงามน่าชม สถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช เมื่อพระเจ้าติโลกราชสวรรคตในปี พ.ศ.2030 พระยอดเชียงราย ราชนัดดาได้สืบราชสมบัติแทน และโปรดให้สร้างสถูปใหญ่บรรจุอัฐิของพระอัยกาธิราช และ สัตตมหาสถาน คือสถานที่สำคัญในพุทธประวัติเจ็ดแห่ง ได้แก่ โพธิบัลลังก์ อนิมิตเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ อชปาลนิโครธเจดีย์ ราชายตนเจดีย์ ปัจจุบันเหลืออยู่ที่วัดเจ็ดยอดเพียงสามแห่ง คือ อนิมิตเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ มุจจลินทเจดีย์ ที่วัดนี้เป็นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ ในรัชสมัยพระยาติโลกราช พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ทรงสนับสนุนคณะสงฆ์นิกายสิงหล (ลังกาวงศ์) ทรงส่งเสริมการเล่าเรียนทางด้านปริยัติธรรม ทำให้ภิกษุล้านนามีความเชี่ยวชาญภาษาบาลี และในปีพ.ศ. 2020 โปรดให้ประชุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่เพื่อชำระพระไตรปิฎก ณ วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอดในปัจจุบัน) ใช้เวลา 1 ปีจึงเสร็จ นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก เป็นครั้งแรกของไทย และถือเป็นหลักปฏิบัติของสงฆ์ในล้านนา โบราณสถานที่สำคัญของวัด 1. ซุ้มประตูโขงทางเข้าวัด ศิลปกรรมของซุ้มประตูโข่งที่น่าสนใจและดูชม คือ ลวดลายปั้น ประดับตกแต่งกรอบวงโค้งและหางซุ้มที่เป็นส่วนประกอบซุ้มประตูสองข้าง 2. มหาวิหาร เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญยิ่งในวัดนี้ สมเด็จพระเจ้าติโลกราชโปรดให้ใช้เป็นสถานที่ประชุมพระมหาเถระทั่วราชอาณาจักรล้านนาไทย ในการทำสังคายนาพระไตรปิฎกนับเป็นอัฐมะสังคายนา ครั้งที่ 8 ของโลก มหาวิหารแห่งนี้ไดรับการสถาปนาขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2020 3. พระอุโบสถ  หลังแรกของวัดเจ็ดยอดพระเมืองแก้วพระราชาธิบดีลำดับที่ 12 แห่งราชวงศ์มังรายทรงเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าติโลกราช โปรดให้สร้างขึ้นตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้ายอดเชียงราย พระราชบิดาของพระองค์ในวัดนี้ เมื่อ ปี พ.ศ. 2045 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลพระอุโบสถหลังนี้ทรงอุสภลักษณ์ กว้าง 32 ศอก กับ 1 คืบ ส่วนยาว 78 ศอก กับ 1 คืบ ที่ตั้งปาสาณนิมิตของพระอุโบสถ กว้าง 41 ศอก ยาว 116 ศอก 4. พระสถูปเจดีย์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าติโลกราช พระยอดเชียง พระราชาธิบดีลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังรายเป็นพระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าติโลกราช โปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นพระราชอนุสาวรีย์ที่ประดิษฐานพระอัฐิพระราชอัยการ คือ พระเจ้าสิริธรรมจักรพรรดิติลภ หรือสมเด็จพระเจ้าติโลกราช เมื่อ พุทธศักราช 2031 5. สัตตมหาสถาน คือ สถานที่สำคัญเนื่องในพระพุทธประวัติ 7 แห่ง คือ 5.1 ปฐมโพธิบัลลังก์ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งขัดสมาธิ ณ ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ด้านทิศตะวันออก ทรงตั้งวิริยาธิษฐานปฎิญาณพระองค์ว่า "ตราบใดที่ยังไม่บรรลุพระอนุตตระสัมมสัมโพธิญาณเพียงใด ก็จะไม่ลุกขึ้นเพียงนั้น แม้มังสะและโลหิตจะเหือดแห้งสูญสิ้นไป จะคงเหลืออยู่แต่หนังเส้นเอ็นก็ตามทีเถิด" 5.2 อนิมิสเจดีย์ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับยืนทอดพระเนตรปฐมโพธิบัลลังก์ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ณ ที่นั้น เป็นเวลา 7 วัน 5.3 รัตนฆรเจดีย์ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับนั่งทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎก เป็นเวลา 7 วัน ภายหลังที่ตรัสรู้ภายในเรือนแก้วที่เทวดานิรมิตถวาย 5.4 มุจจลินทเจดีย์ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุขผลสมาบัติใต้ต้นจิกสระมุจจลินท์ ภายหลังตรัสรู้แล้ว เป็นเวลา 7 วัน 5.5 รัตนจงกลมเจดีย์ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินจงกลมเป็นเวลา 7 วัน 5.6 อชปาลนิโครธเจดีย์ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับนั่งขัดสมาธิ ณ บัลลังก์ภายใต้ร่มอชปาลนิโครธ (ไม้ไทร) อันเป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะ และเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงชนะมาร 5.7 ราชาตนเจดีย์ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขสมาบัติ ณ ภายใต้ร่วมไม้ราชายนพฤกษ์ ทรงยื่นพระหัตถ์ขวารับผลสมอจากพระอินทร์ เป็นเวลา 7 วัน 6. หอไตร คือ สถานที่เก็บรักษาพระคัมภีร์พระไตรปิฎกในวัดเจ็ดยอด เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าติโลกราช ทรงคัดเลือกพระมหาเถระ ผู้เจนจัดในพระบาลีมาชำระอักษรไตรปิฎก ซึ่งเรียกว่า อัฐมสังคายนา ครั้งที่ 8 ของโลก ทรงอบรมสมโภช หอไตรแห่งนี้เป็นการใหญ่ เพื่อใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกฉบับที่ชำระแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น