31 มีนาคม 2556

บ้านจ๊างนัก


                     

                    บ้านจ๊างนัก เลขที่ 51/1 หมู่ 2 ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่ เป็นสถานที่นำเสนอผลงานหลากหลายของศิลปิน และกลุ่มช่างฝีมือพื้นบ้านแห่งล้านนาไทย โดยได้ถ่ายทอด สร้างสรรค์จากจินตนาการที่งดงาม ลงการแกะสลักไม้รูปช้างในหลากหลายท่วงท่าและอิริยาบถ คุ้มค่าต่อการเดินทางไปชื่นชมความงามที่ศิลปินได้ถ่ายทอดลงสู่ลายไม้ได้ เหมือนจริงอย่างยิ่ง การเดินทาง ใช้ถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง ข้ามสะพานแม่น้ำออนแล้วเลี้ยวขวาผ่านวัดแช่ช้าง วัดดอนปิน และวัดบวกค้าง บ้านจ๊างนักติดอยู่กับวัดบวกค้าง โทร. 0 5333 2578



ที่มา : www.เที่ยวเชียงใหม่.com

สวนสัตว์เชียงใหม่ฉีดน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นลดหมอกควันและความร้อน


สวนสัตว์เชียงใหม่ฉีดน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นลดหมอกควันและความร้อน


เมื่อวันที่ 30 มี.ค.56 สวนสัตว์เชียงใหม่ลดหมอกควันปกคลุมในพื้นที่ ประสานขอรถดับเพลิงองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับรถน้ำในสวนสัตว์เร่งฉีดพ่นน้ำตามต้นไม้และบนอากาศในพื้นที่เพิ่งความชื้นหวังลดหมอกควัน นอกจากนี้ยังติดตั้งท่อส่งน้ำพ่นเป็นละอองน้ำหลายจุดเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศลดหมอกควันและความร้อนในอากาศ หวังให้นักท่องเที่ยวและประชาชนที่มาเที่ยวชม และสัตว์ที่จัดแสดงในพื้นที่คลายร้อยและมีอากาศสดชื่น
นายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทางสวนสัตว์เชียงใหม่อยู่ใกล้พื้นที่อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ซึ่งมักเกิดไฟป่าบ่อยครั้งและมีหมอกควันเข้าปกคลุมจำนวนมาก ทางสวนสัตว์เชียงใหม่ได้เล็งเห้นถึงปัญหาดังกล่าวว่ามีความสำคัญอย่างมาก จึงได้ให้รถบรรทุกน้ำในสวนสัตว์เร่งฉีดพ่นต้นไม้ และพื้นที่โดยเฉพาะในอากาศทุกแห่งในสวนสัตว์เชียงใหม่เพื่อลดหมอกควันที่ปกคลุมอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ยังได้ประสานขอรถดับเพลิงองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่มาร่วมฉีดพ่นในพื้นที่ด้วย เพื่อป้องกันหมอกควันที่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชน และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมความน่ารักของสัตว์ชนิดต่างภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ และเพื่อสัตว์ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ด้วย นอกจากนี้ยังลดความร้อนอบอ้าวที่กำลังเกิดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้ด้วย นอกจากนี้เรายังได้ต่อท่อน้ำไปยังจุดสำคัญในสวนสัตว์หลายจุดเพื่อฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ โดยจะเปิดตลอดทั้งวันเพื่อให้เกิดความเย็นชุ่มช่ำลดหมอกควันและความร้อนกับผู้ที่มาเที่ยวสวนสัตว์เชียงใหม่ขณะนี้
ภาพและข่าวโดยทีมข่าว cm108.com .


  • Attached Image: 1-(11).jpg
  • Attached Image: 2-(8).jpg

สวนสัตว์เชียงใหม่ต้อนรับสมาชิกใหม่ ลูกไฮแร๊กซ์ สัตว์ป่าหาดูยากเกิดใหม่อีก 2 ตัว


สวนสัตว์เชียงใหม่ต้อนรับสมาชิกใหม่ ลูกไฮแร๊กซ์ สัตว์ป่าหาดูยากเกิดใหม่อีก 2 ตัว
สวนสัตว์เชียงใหม่ต้อนรับสมาชิกใหม่ ลูกไฮแร๊กซ์ สัตว์ป่าหาดูยากเกิดใหม่อีก 2 ตัว สวนสัตว์เชียงใหม่ต้อนรับสมาชิกใหม่ ลูกไฮแร๊กซ์ สัตว์ป่าหาดูยากเกิดใหม่อีก 2 ตัว มีแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ไฮแร๊กซ์ สัตว์ป่าหาดูยาก ในสวนสัตว์เชียงใหม่ คลอดลูกเพิ่มอีก 2 ตัว โดยคาดว่าน่าจะเกิดมาแล้วประมาณ 1 เดือน และแม่ไฮแร็กซ์เพิ่งยอมเปิดให้เห็นลูกเป็นครั้งแรก ยังไม่ทราบเพศ เนื่องจากแม่ไฮแร๊กซ์หวงลูกมากและไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าใกล้ ส่งผลให้ขณะนี้สวนสัตว์เชียงใหม่มีไฮแร๊กซ์ 6 ตัว และเป็นสวนสัตว์เพียงแห่งเดียวที่มีไฮแร๊กซ์ไฮแร๊กซ์มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Procavia capensis Hyrax ไฮแรกซ์ในสวนสัตว์เชียงใหม่เป็น ชนิด Rock hyax เป็นสัตว์น่ารัก มีรูปร่างเหมือนหนูตะเภา มันมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า The Rock Rabbit หรือ กระต่ายหิน ที่แปลกที่สุดไม่ใช่เรื่องที่ว่ามันเป็นหนู หรือ เป็นกระต่าย แต่ต้นกำเนิดของไฮแร็กซ์ คือ ช้าง ไฮแร๊กซ์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายหนู หางสั้น ขนหนานุ่ม (ใช้ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย) เมื่อเจริญเต็มที่มีขนาดลำตัวตั้งแต่ 30-70 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 2-5 กิโลกรัม ถึงจะกินพืชเป็นอาหารและมีรูปร่างคล้ายหนู แต่ไฮแร็กซ์ไม่ใช่สัตว์ฟันแทะ ใช้ฟันกรามเคี้ยวอาหารซึ่งส่วนใหญ่คือใบไม้และหญ้าเหมือนช้าง ไฮแร็กซ์แพร่กระจายในทวีปแฟริกา ทั้งทะเลทราย ป่าฝน และป่าสน ตั้งท้อง 7-8 เดือน เลี้ยงลูกจน 5 เดือนจึงหย่านม อายุวัยเจริญพันธุ์ประมาณ 17-18 เดือน ไฮแร็กซ์อาศัยอยู่เป็นฝูงหรือครอบครัวเล็กๆ โดยมีตัวผู้ 1 ตัวเป็นผู้นำ สำหรับไฮแร็กซ์ในสวนสัตว์เชียงใหม่นั้น ได้รับบริจาคจากประชาชนเมื่อหลายปีที่ผ่ามา ขณะนี้ครอบครัวไฮแร๊กซ์อยู่ที่สวนชมนกนครพิงค์

ที่มา: http://region3.prd.go.th/ct/news/viewnews.php?ID=130328202538

29 มีนาคม 2556

เส้นทางสายดอกไม้


เส้นทางสายดอกไม้
แด่...จังหวัดเชียงใหม่ ที่หนาวมาก 
เมื่อลมหนาวมาเยือน นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็มักจะนึกถึงจังหวัดที่อยู่ทางภาคเหนือของไทย เพราะภาคเหนือนั้นจะมีลักษณะอากาศที่หนาวเย็นกว่าภาคกลาง และในปีนี้ฤดูกาลแห่งความหนาวเย็น ดูเหมือนจะอยู่กับประเทศไทยได้นานกว่าปีที่ผ่านๆ มา ส่งผลให้การวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวในภาคเหนือได้ขยับขยายระยะเวลาท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ออกไปได้อีกสองเดือนเป็นอย่างน้อย
พูดกันตรงๆ ก็คือว่า ช่วงนี้ (เดือนมกราคม และกุมภาพันธ์) ภาคเหนือนั้นยังน่าเดินทางไปท่องเที่ยวอยู่  นอกจากที่เราจะรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ ในภาคเหนือกันเป็นอย่างดีแล้ว ที่คุ้นเคยกันนั้นก็น่าจะเป็นยอดดอยต่างๆ วัดวาอารามที่มีศิลปะอันอ่อนช้อยงดงาม ป่าเขาพงไพร หรือแม้กระทั่งกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงผจญภัยอีกมากมาย  วันนี้ผมจึงขอเสนอเส้นทางท่องเที่ยวน่าสนใจอีกเส้นทางหนึ่ง ที่คุณผู้หญิง และผู้ชายที่ชื่นชอบสีสันความงดงามทางธรรมชาติ และพิสมัยในกลิ่นหอมสดชื่นลึกซึ้ง...อิอิ...นั่นก็คือ การเดินทางท่องเที่ยวในเส้นทางสายดอกไม้
หมีแพนด้า กำลังอร่อยกับใบไผ่ ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่า ผมคงถ่ายทอดเรื่องราวความสวยงามของเส้นทางสายนี้ได้ไม่ดีเท่าไรนัก  ถึงแม้ความงดงามของดอกไม้จะมีมากกว่าที่ผมได้บรรยายออกมา ขอแนะนำให้คุณผู้อ่านขณะอ่านไปควรจะคูณด้วยด้วย 10 นั่นแหละครับคือค่าความงดงามที่แท้จริง...ไม่ได้เว่อร์นะครับ และจังหวัดที่ผมได้ไปเที่ยวชมมาในทริปนี้ก็คือจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสุดฮิตที่สุดในภาคเหนือ
ในมุมมอง (ของผม) เชียงใหม่นอกจากจะเป็นเมืองใหญ่ทางการท่องเที่ยวแล้ว คือมีทั้งธรรมชาติสวยสดงดงาม มีตัวเมืองที่ศิวิไลย์เหมือนมหานครกรุงเทพฯ แล้วยังมีสาวๆ น่ารักๆ สวยๆ อีกมากมาย (สาวเชียงใหม่ไม่ต้องอมยิ้ม) อันนี้พูดจากใจจริง ไม่เชื่อไปลองสังเกตดูช่วงค่ำๆ เจ้าหล่อนละอ่อนๆ จะมาปรากฏตัวอยู่รายรอบ มช. ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ผมเขียนถึงจังหวัดเชียงใหม่ในมุมมองของเส้นทางสายดอกไม้
ทางเข้าเชียงใหม่ ซู อควาเรียมเส้นทางสายดอกไม้ของผมเริ่มต้นที่ เชียงใหม่ ซู อคาเรียม ที่นี่ไม่เกี่ยวกับดอกไม้หรอกครับ แต่ที่เข้าไปเที่ยวเพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ แบบว่าไม่อยากตกเทรน  เลยเข้าไปดูเสียหน่อยว่าน่าสนใจหรือเปล่า
ตู้ปลาขนาดใหญ่ เชียงใหม่ ซู อควาเรียมเชียงใหม่ ซู อควาเรียมเชียงใหม่ ซู อควาเรียม
เชียงใหม่ ซู อคาเรียม ใช้เวลาการก่อสร้างถึง 3 ปี ตั้งอยู่ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ (ทางไปดอยสุเทพ นี่แหละครับ) การซื้อบัตรเข้าชม นั้นสามารถซื้อได้ตั้งแต่ประตูหน้าทางเข้าสวยสัตว์ได้เลย โดยซื้อเป็นแพ็คเก็จรวมเที่ยวชมสวนสัตว์บก และซื้อบัตรชมเชียงใหม่ ซู อคาเรียม ไปด้วย ราคาจะถูกกว่าไปแยกซื้อข้างใน ก็ถูกกว่า 20 บาท ถ้าไปซื้อข้างในหน้าอควาเรียม ราคาจะอยู่ที่ ผู้ใหญ่ 190 บาท  เด็ก 70 บาท  เด็กที่ส่วนสูงไม่ถึง 90 เซนติเมตร เข้าฟรี  อย่าพึ่งบ่นกันว่าแพงนะครับ เพราะค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และค่าบำรุงรักษาอควาเรียมนั้นสูงมากจริงๆ กว่าจะได้ทุนคืนก็คงต้องใช้เวลาหลายปีอยู่
ภายใน เชียงใหม่ ซู อคาเรียม ดูกว้างใหญ่มีสัตว์น้ำมากมายหลายชนิด ทั้งสัตว์น้ำจืด และสัตว์น้ำเค็ม ล้วนมากมายไปด้วยปลาตัวใหญ่ๆ แปลกๆ เช่น ปลาฉลาม ปลากระเบน ปลาไหลไฟฟ้า ปลาบึก ปลาตัวใหญ่ๆ เหล่านี้ถือเป็นไฮไลท์ของอควาเรียม ทั้งยังเดินทางมาจากลุ่มน้ำใหญ่อย่างเช่น  อเมซอน  แม่น้ำโขงอุโมงค์ทางเดินชมโลกใต้ทะเล เชียงใหม่ ซู อควาเรียม
แน่นอนครับอควาเรียมแห่งนี้ต้องยิ่งใหญ่ และนำเสนอแบบอุโมงค์ให้คนดูได้ชมไปเรื่อยๆ เหมือนกับอยู่ใต้ทะเลจริงโดยไม่เปียก และหายใจได้สบาย วิทยากรบอกว่า อุโมงค์ใต้น้ำแห่งนี้ถือว่ายาวที่สุดในเอเชีย และอาจจะยาวที่สุดในโลกก็ว่าได้อุโมงค์ทางเดินชมโลกใต้ทะเล เชียงใหม่ ซู อควาเรียม
อุโมงค์ทางเดินชมโลกใต้ทะเล เชียงใหม่ ซู อควาเรียมอุโมงค์ทางเดินชมโลกใต้ทะเล เชียงใหม่ ซู อควาเรียมอุโมงค์ทางเดินชมโลกใต้ทะเล เชียงใหม่ ซู อควาเรียม
ตุ๊กตา สินค้าที่ระลึกของ เชียงใหม่ ซู อควาเรียมโดยมีความยาวของอุโมงค์ รวมแล้วยาวถึง 133 เมตร คดโค้งไปมา เวลาเข้าไปก็ไม่ต้องเดินให้เมื่อย ที่นี่เขามีทางเดินเลื่อนไปเรื่อยๆ คล้ายกับสะพานส่งกระเป๋าในสนามบิน  แค่ยืนแหงนหน้ามองเพดานก็จะเห็นปลาตัวใหญ่ๆ ว่ายเวียนอยู่เหนือศีรษะเรา  ผมเคยตกปลาเห็นแต่หลังปลาว่ายขึ้นมาเยาะเย้ย  แต่วันนี้เห็นท้องขาวๆ ของมัน เลยแอบนึกไปว่า พุงปลาฉลามต้มยำจะอร่อยเหมือนพุงปลาช่อนหรือเปล่านี่อ่ะดิ นึกแล้วน้ำลายไหล
ออกจาก เชียงใหม่ ซู อควาเรียม แวะกินข้าวซอยลำดวนฟ้าฮ่าม (ไม่รู้ว่าทำไมฟ้าต้องฮ่าม ด้วยอ่ะ) ร้านนี้อยู่บนถนนซุปเปอร์ไอเวย์ ถ้ามาจากดอยสุเทพ ให้มุ่งหน้าไปตรงทางแยกที่จะไปแม่ริม ร้านจะอยู่ซ้ายมือก่อนถึงทางแยกนิดนึง  ร้านสวยสร้างแบบศิลปะล้านนาประยุกต์สะอาด รสชาติอร่อยน่าติดตาม แต่ว่าก๋วยเตี๋ยวยังไม่ค่อยโดนใจเท่าไร  ถ้าเป็นข้าวซอย กะขนมจีนละก็อร่อยโดนใจเต็มๆ ครับท่าน

ทางฝัน ดอยหลวงเชียงดาว... มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต


2...
    การเดินทางขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาว เชียงใหม่ปัจุบันเปิดให้ขึ้น-ลงสองเส้นทางด้วยกันคือ เส้นทาง “ปางวัว” และ “เด่นหญ้าขัด” ( หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก ) ทั้งสองเส้นระยะทางแตกต่างกัน กล่าวคือ ปางวัวจากจุดเดินเท้าระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ส่วนเด่นหญ้าขัด ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร เส้นทางนี้จะไกลกว่า และยังต้องนำรถไปส่งจุดเดินเท้าซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาวหลายสิบกิโลฯด้วยกัน หรือใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และในฤดูฝนรถที่เข้าไปส่งจะต้องเป็นรถประเภทขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น ส่วนเส้นทางปางวัวอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการเขตฯ ใช้เวลาเพียง 20 นาที เป็นถนนราดยางสะดวกสบายจนถึงจุดเดินเท้า เส้นทางปางวัว จึงได้รับความนิยมกว่าเด่นหญ้าขัด แต่ถ้าไม่รวมระยะทางรถยนต์ ทั้งสองเส้นใช้เวลาเดินเท้าพอๆ กัน

      ขณะที่ทางเด่นหญ้าขัดก็มีความโดดเด่นทางภูมิประเทศที่ไม่เหมือนทางปางวัว กลายเป็นจุดดึงดูดใจไม่น้อยทีเดียวกล่าวคือ จากจุดเริ่มต้นหน่วยฯ เด่นหญ้าขัด หรือ ขุนห้วยแม่กอก ลัดเลาะผ่านเส้นทางที่ต้องเดินบนสันเขามองเห็นทิวทัศน์ในมุมกว้าง และเดินอยู่ท่ามกลางดงสนสามใบ เพลิดเพลินกับการชมทิวสน ฟังเสียงทิวสนปะทะลมจนเกิดเป็นท่วงทำนองเสียงธรรมชาติไพเราะเสนาะหู บางช่วงต้องลุยป่าหญ้าคาที่สูงท่วมหัว ซึ่งบริเวณเหล่านี้หรือหลายๆ ที่ในอดีตเคยเป็นไร่ฝิ่นของชาวม้งมาก่อน คนที่เคยมาเยือนเชียงดาวเมื่อสิบกว่าปีก่อน จะได้พบเห็นไร่ฝิ่นที่ออกดอกสะพรั่งทั่วหุบดอย ว่ากันว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีการปลูกฝิ่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย แต่ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือร่องรอยให้เห็น ตลอดเส้นทางไม่ชันมากนัก ทำให้ความต่างของระยะทางเทียบกับปางวัวแล้วใช้เวลาเดินพอๆ กัน

    ทางด้าน ปางวัว จะชันกว่าเล็กน้อย แต่สะดวกในการนำรถมาส่งที่จุดเริ่มต้น จากนั้นเดินไต่ขึ้นเขาจนถึงดงไผ่หกและเดินทางราบในหุบเขาจนถึงดงกล้วย ซึ่งบริเวณดงไผ่หก จะเป็นจุดที่ทางเขตฯ อนุญาตให้กางเต็นท์พักแรมค้างคืนได้สำหรับกรณีที่ต้องการแบ่งช่วงครึ่งทางของการเดิน แต่ถ้าเดินรวดเดียวถึงแค้มป์อ่างสลุงใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง เช่นเดียวกับเส้นทางเด่นหญ้าขัด โดยทั้งสองเส้นทางจะมาบรรจบกันระหว่างครึ่งทาง หรือเลยแค้มป์ดงกล้วยมาเล็กน้อย...ไหนๆ มาถึงเชียงดาวทั้งที ต้องเดินให้ครบทั้งสองเส้นทาง ผมและชาวคณะมิตรสหายจึงวางแผนเดินขึ้นทางปางวัว เดินรวดเดียวให้ถึงแค้มป์อ่างสลุง ค้างบนนี้สักสองคืนแล้วขากลับเลือกลงทางเด่นหญ้าขัด

   
     ...ต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนเริ่มต้นที่ทางเขตรักษาพันธุ์ฯ เชียงดาว กำหนดเปิดให้นักท่องเที่ยวเชียงใหม่สามารถขึ้นไปเที่ยวชมศึกษาธรรมชาติบนดอยหลวงเชียงดาว จนถึงเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี เพื่อให้ป่าได้พักฟื้นตลอดช่วงฤดูฝน และเหมือนว่าปีนี้ฟ้าฝนอากาศผิดแปลกไป ฝนยาวล่วงเลยมาถึงต้นเดือนพฤศจิกายน พอหมดฝนอากาศหนาวขึ้นมาทันที เข้าหนาวได้สองสามวันอุณหภูมิลดฮวบๆ จนทำให้บนยอดดอยสูงๆ อากาศหนาวเย็นสุดขั้ว ยอดดอยสูงสุดของประเทศอย่างอินทนนท์อุณหภูมิลดต่ำสุดถึง 0 องศา เกิดปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งหรือแม่คะนิ้ง
    ขณะเดียวกันที่เชียงดาวก็ดูจะไม่ต่างสักเท่าไหร่ และก็เป็นช่วงเดียวกันที่พวกเราเดินทางมาตรงกับความหนาวนี้พอดี มันจึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่นอนกับการเผชิญความหนาวบนยอดดอยแห่งนี้ ขนาดแค่ช่วงวันระหว่างที่เราเดินอยู่นั้น แสงแดดแผ่จ้าเท่าไหร่แต่มันก็ไม่รู้สึกถึงความร้อน มันเหมือนว่าพลังแสงแดดคงไม่อาจต้านทานความหนาวเย็นนี้ไปได้ แต่กลับทำให้พวกเราเดินกันอย่างสบายไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป แม้ว่าบางช่วงของเส้นทางชันที่เราต้องใช้เรี่ยวแรง เรียกเหงื่อขับความร้อนจากร่างกายปะทะความเย็นรายรอบตัว ไม่นานความร้อนความเหนื่อยนั้นก็หายไปในบัดดล จะหลงเหลือก็ความเมื่อยเขม็งตรึงของกล้ามเนื้อบริเวณขา พาให้หยุดพักหลายช่วงด้วยกัน ดูเหมือนพวกเราจะมีความสุขในสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ แต่ก็ไม่อยากนึกถึงเวลาค่ำคืน ซึ่งมันจะหนาวเหน็บเพิ่มเป็นทวีคูณแค่ไหน    

     ระหว่างพักหลายคนสนุกกับการพูดคุยหยอกล้อ และบางคนรวมถึงผมต่างง่วนอยู่กับการบันทึกภาพ ซึ่งมีให้หยุดคว้ากล้องออกจากกระเป๋าเป็นระยะทางเดินช่วงชั่วโมงแรกมองออกไปทิศตะวันตก เห็นหมู่บ้านตั้งโดดเด่นอยู่บนเนิน คือบ้านนาเลา ชุมชนชาวลีซอ กลุ่มชาวเขาที่ยังอาศัยอยู่รอบๆ ป่าเชียงดาว และชาวลีซอ บางส่วนก็มารับจ้างแบกหามสัมภาระนักท่องเที่ยวขึ้นดอย เช่นเดียวกับชาวบ้านจากบ้านถ้ำที่เป็นลูกหาบสมัยแรกๆ ของการท่องเที่ยวธรรมชาติบนเชียงดาว คนที่นี่หรือชาวบ้านรอบๆ ป่าเชียงดาวนอกจากมีอาชีพเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไปแล้ว ช่วงฤดูท่องเที่ยวเชียงดาว เขาจะมีรายได้จากการเป็นลูกหาบ บางคนมีรายได้หลายหมื่นบาทตลอดห้าเดือน นับเป็นรายได้พอเลี้ยงตัวและไม่มีต้นทุนอะไร นอกจากลงแรง อาศัยความขยันและอดทน
    นกชนิดแรกที่ทำให้เราได้หยุดดูคือ แซงแซวหัวขาว ส่งเสียงเจื้อยแจ้วอยู่บนยอดไม้หลายสิบตัวด้วยกัน คงได้ดูแต่ตาเพราะถ้าบันทึกภาพก็คงต้องใช้เลนส์ตัวโตๆ สัก 500 มม. นกชนิดต่อมาที่พบเห็นคือกลุ่มนกพญาไฟ เอกลักษณ์โดดเด่นอยู่ที่มีสีสันแดงสด และนกชนิดที่ตามมาติดๆ เมื่อเลยดงไผ่หกเพื่อไปยังดงกล้วย เราได้บันทึกภาพกันเต็มๆ และดูจะยอมให้ถ่ายภาพใกล้ๆ ไม่บินหนีไปไหน เพราะนกชนิดนี้ไม่ใช่สัตว์ หากมันคือ “เทียนนกแก้ว” ( Impatiens psittacina Hook. f. ) พันธุ์ไม้ในวงศ์เทียนที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายนกแก้วกำลังโผบิน จนเป็นที่มาของชื่อซึ่งใช้เรียกเทียนชนิดนี้
    เทียนนกแก้วเป็นพืชหายากชนิดหนึ่ง พบเฉพาะที่เชียงดาวและจีนตอนใต้ ขึ้นอยู่ในป่าดิบเขาตั้งแต่ความสูง 1,400-1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความแปลกที่คล้ายนกแก้วนี้เองทำให้กลายเป็นพันธุ์ไม้ที่ถูกกล่าวขวัญถึงของผู้คนที่เดินทางมาเยือนเชียงดาว หวังจะได้พบเห็นกับตาสักครั้ง ท่านใดอยากพบตัวเป็นๆ ก็ต้องมาช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พบมากบริเวณช่วงระหว่างเส้นทางดงไผ่หกถึงดงกล้วย และบริเวณอ่างสลุง
    ป่าเชียงดาวสามารถพบเห็นนกมากมายหลายชนิด เป็นที่นิยมของนักดูนกเส้นทางหนึ่งโดยเฉพาะเส้นทางเด่นหญ้าขัด จังหวะดีๆ ในเส้นทางนี้อาจได้เห็น ไก่ฟ้าหลังขาวกับไก่ฟ้าหางลายขวาง สัตว์ปีกซึ่งหาชมได้ยากในถิ่นอื่นแต่สามารถพบได้ที่นี่และไม่กี่แห่งในประเทศไทย ถัดจากดงกล้วยเดินทางราบชั่วครู่ก็ตัดขึ้นทางชันอีกเล็กน้อย บรรจบกับทางแยกระหว่างเด่นหญ้าขัดกับปางวัว ซึ่งมีป้ายบอกเส้นทางไว้ ขวาไปเด่นหญ้าขัด และซ้ายที่เราจะไปต่อคืออ่างสลุงหรือยอดดอย เดินเลาะไปตามไหล่เขาขึ้น-ลงเล็กน้อย และลงทางราบแอ่งหุบเขา มองเห็นยอดพีระมิดทางด้านซ้าย ยอดดอยสามพี่น้องทางด้านขวา และหันหลังกลับไปคือดอยหนอก
    ส่วนด้านหน้าคือกำแพงเขาหินปูนที่เราต้องข้ามผ่าน มองไปบนยอดกำแพงเขาหินปูนหรือแนวสันเขาเห็นต้นค้อดอย ( Trachycarpus oreophilus Gibbons& Spanner) ยืนต้นเป็นทิวแถวท้าทายสายลมแสงแดดอย่างน่าทึ่ง เวลาผ่านไปมากเท่าไหร่หรือเดินผ่านดอยสามพี่น้องลึกเข้าไป เมื่อมองย้อนกลับมาการมองเห็นรูปร่างของดอยสามพี่น้องก็จะชัดเจนขึ้น คือเห็นเป็นยอดดอย 3 ยอดเรียงซ้อนทำมุมทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ในช่วงบ่ายพอดี เกิดเป็นลำแสงส่องผ่านตามช่องระหว่างยอดทั้งสาม สร้างความรู้สึกถึงมิติลึกลับน่าเกรงขาม จนต้องหยุดมองและบันทึกภาพเป็นระยะ ทั้งสามยอดมีความสูงไล่เลี่ยกันโดยยอดที่สูงสุดคือ 2,150 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
    ช่วงสุดท้ายก่อนตัดข้ามเขาเพื่อมายังอ่างสลุงนั้น จะเป็นทางลาดชันที่ให้ต้องไต่เดินฉุดเรี่ยวแรงไม่น้อย มองไปรอบๆ สภาพป่าเป็นทุ่งหญ้าซึ่งโอบล้อมด้วยภูเขาหินปูน ตามไหล่เขาลงมาโขดหินน้อยใหญ่สีดำเทาผุดขึ้นแทรกออกมาจากดงหญ้าเป็นหย่อมๆ เหมือนมีใครนำมาตั้งเอาไว้จนเกิดเป็นประติมากรรมแท่งหินหรือสวนหินธรรมชาติที่แปลกตาชวนมองและจินตนาการ หนทางชันที่พาข้ามกำแพงเข้ามายังบริเวณที่ราบซึ่งเรียกว่า ดงเย็น ลักษณะเป็นหย่อมป่าดิบเขาที่เหลือรอดจากการบุกรุกทำไร่ฝิ่นสมัยก่อน
    บริเวณแถบนี้พบพันธุ์ไม้หลายชนิด ได้แก่ เอสเตอร์เชียงดาว กลีบดอกสีขาวเล็กๆ เรียงซ้อนกันมีเกสรสีเหลือง,บัวคำ หรือ บัวทอง ดอกสีเหลืองสด, เหยื่อจง ดอกมีสีขาวรูปร่างสั้นป้อม เมื่อก้าวออกป่าดิบเขาพื้นที่โล่งเตียนเดินไปตามทางตัดผ่านดงต้นสาบเสือ ที่โดนแม่คะนิ้งหรือน้ำค้างแข็งเมื่อคืนก่อนเกาะจนทำให้ตามใบปรากฏสีดำไหม้เป็นวงกว้าง เดินผ่านมาได้สักครู่เห็น ชมพูพิมพ์ใจ ออกดอกช่อใหญ่สีชมพูสดสะดุดตาตัดกับสีครามของท้องฟ้า นับเป็นอีกหนึ่งพันธุ์ไม้เด่นบนเชียงดาวนี้

ทางฝัน ดอยหลวงเชียงดาว... มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต 1


 

    ในบรรดายอดเขาสูงอันดับต้นๆ ของเมืองไทย “ดอยหลวงเชียงดาว” เชียงใหม่ นับว่ามีรูปร่าง ลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่นกว่าใครเพื่อน เขาหินปูนหยึกหยักตระหง่านเงื้อม เมื่อมองจากบริเวณใดใกล้ไกล ยอดดอยแห่งนี้ก็คงความแปลกตาชวนมองยิ่งนัก เชียงดาวเผยโฉมให้เห็นได้ในหลายสถานที่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบนทางหลวงหมายเลข 107 ซึ่งผมเคยนั่งรถผ่าน ห้วยน้ำดังสถานที่ชื่อดังแห่งการชมทะเลหมอก ที่นี่ในยามเช้าเราจะพบสายหมอกล่องลอยอยู่กลางหุบเขาโดยมียอดเชียงดาวสูงตระหง่านเด่นเคียงคู่กัน กลายเป็นภาพคุ้นเคยและเป็นดั่งสัญลักษณ์ของสถานที่นี้ ตลอดจนการมองเชียงดาวในที่ห่างไกลอย่างบนยอดดอยลังกาหลวง ซึ่งมีความสูงอันดับห้าของประเทศแห่งอุทยานแห่งชาติขุนแจ ก็คงค้นพบว่ามันยังไม่ลดความยิ่งใหญ่ลงแม้แต่น้อย.... เชียงดาวที่มองจากภายนอกจึงโดดเด่นกว่ายอดเขาใดๆ
    เชียงดาว...ในความรู้สึก ความประทับใจที่สัมผัสนั้น ส่วนตัวผมจึงมีทั้งการมองเห็นจากภายนอกและสัมผัสเห็นจากภายใน โดยส่วนของภายในนั้นผมกำลังหมายถึง การก้าวเท้าสู่ยอดดอยแห่งนี้ ดินแดนที่มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต

1...
    สถิติความสูง 2,275 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงเป็นอันดับสามของประเทศ แต่หากความสูงนี้หาใช่เรื่องสำคัญที่ทำให้ดอยหลวงเชียงดาวกลายเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำของนักเดินทาง หากมันคือ การดำรงอยู่ของความงดงามอันน่าอัศจรรย์ของโลกธรรมชาติ ทำให้เราบากบั่นขึ้นมาเรียนรู้ มาเยี่ยมเยือนบ้านของพันธุ์ไม้ถิ่นเดียวและพรรณไม้หายากที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลก สร้างประสบการณ์การเดินทางอันน่าจดจำ
   

     ....จุดกำเนิดของเทือกเขาเชียงดาว เกิดจากการทับถมของตะกอนทะเลและซากสัตว์ต่างๆ ใต้ท้องทะเล ซึ่งสันนิษฐานว่าในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นท้องทะเลมาก่อน ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงมีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก จนทำให้แผ่นดินยกตัวขึ้นเป็นภูเขา เป็นแอ่ง และหุบเขา เรียกว่ายุคเพอร์เมียน มีอายุราวกว่าสองแสนล้านปีมาแล้ว เทือกเขาดอยเชียงดาวซึ่งเป็นเขาหินปูนจึงมีลักษณะเฉพาะ เนื่องจากโดยรอบเป็นหน้าผาชัน และบางแห่งยังมีมุมตั้งฉากกับพื้นโลก สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการทรุดตัวเป็นแนวเลื่อน แนวตรงของโครงสร้างทางธรณีวิทยา และยังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการกำเนิดชนิดของสังคมพรรณพืช บริเวณที่หน้าดินลึกสามารถพบไม้ต้นขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ส่วนบนพื้นหินปูนจะเป็นไม้พุ่มเตี้ยและไม้ล้มลุก เนื่องจากหน้าดินมีน้อยและตื้น รวมทั้งดินมีความเป็นด่างสูง ชนิดพืชที่ขึ้นได้ส่วนใหญ่จึงเป็นชนิดพิเศษจริงๆ

 


     สังคมพืชบนดอยหลวงเชียงดาวมีลักษณะแตกต่างจากสังคมพืชในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ แม้กระทั่งในเขตพื้นที่ภาคเหนือด้วยกันเอง ตามปกติแล้วยอดเขาที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 2,000 เมตร จะปรากฏเป็นสังคมพืชป่าดิบเขา และป่าดิบชื้นแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นป่าโบราณในเขตยอดดอยสูงสุดของเทือกเขาอินทนนท์ หรือแม้กระทั่งดอยผ้าห่มปก ดอยลังกาหลวง และ ดอยโมโกจู ฯลฯ ล้วนตรงกันข้ามกับดอยหลวงเชียงดาวอย่างสิ้นเชิง
    การเป็นเทือกเขาหินปูนขนาดใหญ่ของดอยหลวงเชียงดาว ก่อให้เกิดสังคมพืชที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่สามารถพบเห็นได้ในที่อื่นๆ ที่เรียกว่าสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ซึ่งในวันนี้ใครขึ้นไปเชียงดาว ไม่พูดถึงเรื่องพืชกึ่งอัลไพน์ คงจะต้องเป็นคนที่เชยทีเดียว
    เหตุที่ต้องใช้คำว่า “กึ่ง” เนื่องมาจากว่าสังคมพืชอัลไพน์ ที่แท้จริงนั้น ตามปกติจะพบเห็นได้ในเขตหนาว หรือถ้าเป็นเขตร้อนก็ต้องเป็นภูเขาที่สูงมากกว่า 3,500 เมตร ยิ่งใกล้กับเส้นศูนย์สูตรเท่าไหร่ ภูเขาที่จะเกิดอัลไพน์ได้ก็ยิ่งต้องสูงมากขึ้นเท่านั้น
    สมาชิกในสังคมพืชอัลไพน์ นั้นไม่ปรากฏพืชที่เป็นไม้ยืนต้นอยู่เลย นั่นเป็นเพราะสภาพอากาศหนาวเย็นจัดและลมแรง แต่สำหรับบนดอยหลวงเชียงดาว กลับพบว่ามี ค้อเชียงดาว และ ไม้ก่อ อีกหลายชนิด ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขึ้นปะปนกับไม้เล็กอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของการใช้คำว่า กึ่งอัลไพน์
    การเกิดขึ้นของสังคมพืชกึ่งอัลไพน์บนยอดดอยหลวงเชียงดาวจึงเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะปัจจัยต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบต้องสมบูรณ์จริงๆ เท่านั้น และจากการศึกษาทางพฤกษศาสตร์ของนักวิชาการทำให้ทราบว่า บนพื้นที่นี้เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้เขตอบอุ่น ซึ่งกระจายพันธุ์มาจากทางตอนเหนือของทวีป โดยเป็นการนำพาของลมที่พัดลงมาทางใต้ ซึ่งได้หอบเอาเมล็ดไม้จำนวนหนึ่งมาติดค้างอยู่บนดอยแห่งนี้ ทำให้พวกมันหยั่งรากเติบโตอยู่บนดอยเชียงดาว ดังจะเห็นได้จากพืชหลายๆ ชนิดมีลักษณะคล้ายหรือเป็นชนิดเดียวกับที่พบในเขตเทือกเขาหิมาลัย และเนื่องจากบริเวณสันเขาเกิดการก่อตัวของภูเขาหินปูนที่มีชั้นดินเก็บกักน้ำได้น้อย จึงเป็นปัจจัยทำให้การสร้างระบบนิเวศจำเพาะขนาดเล็กแก่พืชบางชนิดให้สามารถขึ้นอยู่ได้ หลังจากนั้นเมื่อพืชดังกล่าวมีการปรับตัวจนขึ้นอยู่ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็เป็นการนำไปสู่การแตกให้ประชากรกลายพันธุ์จนแยกเป็นชนิดใหม่มากมาย และมีจำนวนไม่น้อยไม่พบเจอในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก
    ดอยหลวงเชียงดาวมีระดับความสูงเพียง 2,275 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่กลับมีพรรณพืชที่มีในถิ่นเดียว และหาพบยากของโลกมากมาย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 นักพฤกษศาสตร์คนแรก คือ Dr. C.C. Hosseus ขึ้นมาสำรวจพันธุ์ไม้บนดอยหลวงเชียงดาว และต่อด้วยนักพฤกษศาสตร์หลายคนจนถึงวันนี้ สำรวจพบว่า ดอยหลวงเชียงดาวมีพรรณพืชอย่างน้อย 1,722 ชนิด โดยกว่า 50 ชนิดเป็นพืชถิ่นเดียว ไม่พบที่ไหนอีกในโลก
    พรรณไม้ที่พบเห็นบนดอยเชียงดาวในแต่ละฤดูกาลมีความแตกต่างกันออกไป แต่ไม่มีช่วงใดที่พรรณไม้นานาชนิดบานสะพรั่งมากเท่าปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว หรือ ราวปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นไป และช่วงฤดูกาลดังกล่าวก็ยังเป็นช่วงที่ท้องฟ้าสดใส สร้างปรากฏการณ์ในการชมทิวทัศน์บนดอยหลวงเชียงดาวได้อย่างสวยงามที่สุดเช่นกัน พันธุ์ไม้ที่ผลิดอกช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็น ชมพูเชียงดาว ชมพูพิมพ์ใจ หรีดเลื้อยเชียงดาว เทียนนกแก้ว ฟองหินเหลือง คำขาวเชียงดาว ฟ้าคราม และขาวปั้น เป็นต้น เราสามารถพบเห็นพันธุ์ไม้เหล่านี้ตลอดเส้นทางเดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกิ่วลมและยอดสูงสุด ซึ่งจะพบเห็นได้มากที่สุด

   

    ...เชียงดาว หรือ “เพียงดาว และ เปียงดาว” ตามภาษาท้องถิ่น คือเทือกเขาหินปูนสูงที่สุดของประเทศ อดีตมีตำนานเล่าขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตของเหล่าเทพเทวดาที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ตามความเชื่อดังกล่าวทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้าย่างกรายขึ้นไปนัก จึงขนานนามเทือกเขาแห่งนี้ว่า เปียงดาว ซึ่งหมายถึงยอดเขาที่มีความสูงเทียมดาว แต่ต่อมาเรียกเพี้ยนว่า เพียงดาว และ เชียงดาว ในปัจจุบัน
    จากตำนานเรื่องราวในอดีตทำให้พื้นที่ของเชียงดาวสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่เป็นความลี้ลับอยู่เนิ่นนาน จนกระทั่งได้มีการสำรวจและประกาศจัดตั้งให้เป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2521 นับแต่นั้นมาการเดินทางขึ้นดอยหลวงเชียงดาวของนักเดินทางจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวเกี่ยวกับดอยแห่งนี้ก็ได้รับการเผยแพร่ต่อสายตาสาธารณชนมากขึ้นเรื่อยๆ จนที่สุดกลายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายธรรมชาติที่สำคัญเส้นทางหนึ่งในบ้านเราจวบจนปัจจุบัน


    หากความเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สำคัญ โดยเฉพาะความหลากหลายของพรรณพืชที่หายากของโลก ซึ่งพันธุ์ไม้เหล่านี้ค่อนข้างเปราะบางตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าหลายชนิด แน่นอนว่าหากการเปิดให้เข้ามาเที่ยวชม อย่างไม่มีการจัดการที่ดีแล้วล่ะก็ ย่อมจะส่งผลทำลายสิ่งล้ำค่าเหล่านี้ไม่มากก็น้อย ความเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจึงมีกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ แตกต่างจากอุทยานแห่งชาติ ทำให้การกำหนดเส้นทางขึ้นมาเที่ยวชมบนดอยแห่งนี้มีความเข้มงวดและเป็นไปในทิศทางที่กำหนดซึ่งอยู่ภายใต้การจัดระบบอันสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และที่ “อ่างสลุง” เป็นบริเวณเดียวที่ใกล้ยอดดอยหลวงเชียงดาวที่สุด ซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นจุดตั้งแค้มป์ของเหล่านักเดินทาง.... เรื่องราวของการยลโฉมพรรณพฤกษา และยอดเขาสูงจึงเริ่มต้น ณ ตรงนี้

28 มีนาคม 2556

ขึ้นเหนือ ไหว้พระ สักการะผู้บุกเบิก “พระธาตุดอยสุเทพ“


ช่วงสัปดาห์พระพุทธศาสนา ขอพาทุกท่านขึ้นเหนืออีกครั้งไปยังจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีสถานที่มากมายให้เลือกเที่ยวได้อย่างหลากหลาย มาเที่ยวเชียงใหม่ทั้งที่ หากไม่ได้ขึ้นดอยสุเทพคงไม่สามารถบอกได้ว่าถึงเชียงใหม่อย่างแท้จริง วันนี้จึงนั่งรถออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ ลัดเลาะตามเส้นทางคดเคี้ยวของถนนห้วยแก้วในสภาพที่ฝนฟ้าตกมาอย่างต่อเนื่องขนาดนี้ คงต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษเพราะถนนอาจจะลื่น มองไปบริเวณรอบ ๆ สองข้างทางผ่านป่าเขาลำเนาไพรที่เขียวชอุ่มด้วยน้ำฝนจากธรรมชาติ ทำให้นึกถึงว่าในอดีตที่ผ่านมาคงลำบากมิใช่น้อยกว่าจะขึ้นมาถึงบนยอดดอยสุเทพแห่งนี้ได้
บุคคลที่มีความสำคัญในการบุกเบิกสร้างถนนขึ้นไปบนดอยสุเทพ คือครูบาศรีวิชัย ท่านเป็นนักบุญแห่งล้านนา เป็นที่เคารพเลื่อมใสสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยไว้บริเวณเชิงดอยสุเทพ จะมีประชาชนแวะสักการะก่อนขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพกันอย่างต่อเนื่อง จากเชิงดอยขึ้นไปบนดอยสุเทพเป็นระยะทาง 11 กิโลเมตร ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นทางลาดชั้นและคดเคี้ยว หากท้องฟ้ามืดครึ้มฝนตกก็คงต้องยิ่งเพิ่มความระมัดระวังกันมากขึ้น ด้วยแรงแห่งพลังความเลื่อมใสศรัทธาและพลังบุญของคนในอดีต ทำให้ในวันนี้เรามีถนนเป็นเส้นทางที่อำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้ที่จะขึ้นไปสักการะพระบรมธาตุดอยสุเทพได้อย่างง่ายดาย
วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพวรวิหาร เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่ องค์เจดีย์ใต้ฐานพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐ์พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศิลปกรรมเป็นรูปแบบล้านนา องค์เจดีย์สีทองอร่ามงามตายิ่งนัก นอกจากนี้แล้ว ด้านบนของพระธาตุดอยสุเทพยังเป็นจุดชมวิวที่สามารถชมเมืองเชียงใหม่ได้ทั้งเมือง แต่ก่อนจะเดินขึ้นมาชมวิวสวยๆ ลมพัดเย็นๆ ก็เดินขึ้นบันไดนาค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของพระธาตุดอยสุเทพ ผู้เขียนเองก็พยายามนับขั้นบันได แต่ด้วยความเหนื่อยทำให้ลงลืมจนป่านนี้ก็ยังไม่ทราบว่ามีกี่ขั้น ท่านใดทราบแล้วก็มาบอกกันบ้างนะคะ แต่ใครที่ไม่อยากเหนื่อย ก็สามารถขึ้นรถรางไฟฟ้าได้นะคะ บริการครั้งล่ะ 20 บาท ส่วนชาวต่างชาติ 50 บาทคะ
ด้านบนพระธาตุดอยสุเทพมีกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการฟ้อนรำที่อ่อนช้อย และการเล่นดนตรีพื้นเมืองของเด็ก ๆ ที่มาทำการแสดงเปิดหมวกให้กับนักท่องเที่ยวได้ชมกัน เรียกเป็นการใช้เวลาว่างได้เป็นประโยชน์อย่างมากคะ ส่วนด้านล่างก่อนทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ จะมีของพื้นเมืองให้เลือกซื้อกันหลากหลาย หากยังไม่พอสามารถเดินเลือกซื้อสินค้าที่ถนนคนเดินวันเสาร์ที่ถนนวัวลาย ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินและงานด้านหัตถกรรม ส่วนวันอาทิตย์ นักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวชมถนนคนเดินได้เช่นกันบริเวณ ตั้งแต่ประตูท่าแพ แยกกลางเวียง จนถึงหน้าวัดพระสิงห์ หรือจะเลี้ยวซ้ายไปทางวัดเจดีย์หลวง เลี้ยวขวาไปจนถึงแยกอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
เรียกว่าไม่เหนื่อย ไม่เมื่อยก็เดินเลือกซื้อหาสินค้ากันได้อย่างจุใจ หรือถ้าเมื่อยมากอย่างผู้เขียนก็สามารถแวะนวดตามริมถนนคนเดิน ก็จะร้านนวดฝ่าเท้าไว้บริการให้หายเมื่อยด้วยคะ ได้ของฝากของสวยงามเมื่อมาท่องเที่ยวเชียงใหม่กันจุใจแล้วขอตัวไปหาอาหารพื้นเมืองกินก่อนนะเจ้า

นาขั้นบันได แม่กลางหลวง เขียวงามจับใจจริงๆ


นาขั้นบันได แหล่งท่องเที่ยวเชียงใหม่อีกแห่งที่กำลังได้รับความนิยม จากผู้รักธรรมชาติและผู้หลงใหลในการกดชัตเตอร์ สัมผัสธรรมชาติ ท่ามกลางหุบเขา พร้อมกับบรรยากาศอากาศหนาวได้ที่ นาขั้นบันได แม่กลางหลวง
เริ่มต้นออกเดินทาง ซึ่งการเดินทาง สามารถเลือกเดินทางได้ทั้งรถส่วนตัว และ รถโดยสาร ซึ่งคนเมืองจะเรียกกันว่ารถแดง ระหว่างการเดินทางไปนาขั้นบันได เราจะไปแวะที่ร้านกาแฟของพี่สมศักดิ์ ซึ่งเค้าขนานนามกันว่ากาแฟอร่อย ด้วยวิธีการชงกาแฟ ที่ยังใช้กาต้มน้ำในการชงซึ่งถือได้ว่า หากินและชมได้ยากพอสมควร และถ้าสังเกตุจากกาที่ต้ม น่าจะพอบอกได้ว่า ผ่านการชงมาน่าจะนับไม่ถ้วนแล้ว
เมื่อลิ้มรสชาดของกาแฟเสร็จ เราก็มุ่งหน้า ไปที่ "น้ำตกผาดอกเสี้ยว" น้ำตกที่ใช้ถ่ายทำหนังเรื่อง "รักจัง"
ระหว่างทางเดินกลับจากน้ำตกเพื่อไปที่พัก เราก็จะพบกับนาขั้นบันได และ แปลงปลูกดอกเยอบีร่า และดอกเบญจมาศ ที่ชาวบ้านปลูกเพื่อจำหน่าย ขอบอกว่า ดอกเยอบีร่าและเบญจมาศที่นี่สวยงามมาก และเมื่อเดินมาถึงน้ำตก ขอบอกว่า ณ จุดนี้ หายเหนื่อยไปเลย เมื่อเจอกับธรรมชาติกลางหุบเขา ความสดชื่นจากน้ำตก สวยงามและสดชื่นมากกกกก
จากนั้นไปต่อกันที่พระธาตุนภเมทนีดล และ นภพลภูมิสิริ ซึ่งถ้าช่วงเช้า เดินเล่นน้ำตกด้วยความเพลิดเพลิน อาจจะทำให้ถึงกับหมดแรงได้เมื่อเดินทางมาถึง จุดนี้

สำหรับการเข้าชมนาขั้นบันไดนั้น มีสองช่วง คือ เดือนกันยายน - กลางตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงหน้าฝน เพราะนาข้าวจะเริ่มเขียวขจีชุ่มฉ่ำ และปลายเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน จะเป็นช่วงที่นาข้าวออกรวงเป็นสีทองเต็มท้องทุ่งเหลืองสวยงามมาก
และสุดท้าย สำหรับการมาเที่ยว นาขั้นบันได เชียงใหม่ ขอแนะนำว่าไม่ควรใส่ขาสั้นไปเด็ดขาดเพราะในนานั้นจะมี "ตัวคุ่น" ซึ่งเจ้าตัวคุ่นนี้ ตอนที่เราโดนกัดจะไม่รู้สึกอะไร แต่หลังจากนั้น 2-3 วัน เราจะนั่งเกากันทั้งวันไปเลย 

อิ่มไอหมอกเที่ยวดอยอ่างขาง


หนาวนี้แวะมาเที่ยวดอยกับอากาศแสนหนาว พร้อมชมธรรมชาติอันสวยงามได้ที่ดอยอ่างขางท่องเที่ยวเชียงใหม่ ซึ่งเพียบพร้อมด้วยโครงการณ์หลวงและทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงามมากมาย ให้คุณชื่นใจกับไอหมอกที่ลอยผ่านได้อย่างสดชื่น
ดอยอ่างขางเริ่มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวขึ้นมา จากการกำเนิดของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ที่ดำเนินงานโดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งพบว่าชาวเขามีการปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้มีรายได้ที่ดีขึ้นมาเลย จึงนำเอาพืชผักผลไม้เมืองหนาวเข้ามาพัฒนาสายพันธุ์ และขยายพันธุ์ให้แก่ชาวเขาและประชาชนในละแวกนั้น ทำให้ดอยอ่างขางกลายเป็นสถานีเกษตรที่มีพืชเมืองหนาวมากมาย มีสวนดอกไม้เมืองหนาวหายาก และที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
นอกจากนั้น สิ่งที่นักท่องเที่ยวถวิลหาคืออากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 17.7 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ -3 องศาเซลเซียสในเดือนมกราคม สูงสุดประมาณ 32 องศาเซลเซียสในเดือนเมษายน ที่สำคัญสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร ทำให้เห็นไอหมอกเป็นเส้นสายรอบทิวเขาสวยงามยิ่งนัก
เที่ยวอ่างขาง โครงการหลวง
ภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีจุดเข้าชมน่าสนใจมากมาย แต่ก่อนอื่นคุณจะต้องเสียค่าบริการเข้าชมคนละ 30 บาท ถ้าเอารถยนต์เข้าไปด้วยคันละ 50 บาท ซึ่งสามารถขับชมรอบๆ ได้อย่างสะดวกสบายไม่ต้องเดิน เพราะกินบริเวณถึง 1,800 ไร่
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีที่ท่องเที่ยวให้คุณใช้เวลาถ่ายรูปได้ทั้งวัน เช่น สวยเจ้านาย เรือนดอกไม้ แปลงสาธิตไม้ดอก สวนแปดสิบจัดในวาระหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนีมีอายุครบ 80 ชันษา ประดับแมกโนเลีย คาเมลเลีย กะหล่ำประดับ ไม้ตระกูลซากุระ และเมเปิ้ล เป็นต้น แปลงกุหลาบอังกฤษ แปลงผักเมืองหนาว เช่น เบบี้แครอต ซูกินี ผักกาดห่อ แปลงผลไม้เมืองหนาว เช่น บ๊วย พลัม สาลี่ กีวี่ และสตรอวเบอร์รี่ จุดชิมชา สวนคำหอมที่รวบรวมแต่ไม้หอม และสวนสมเด็จ เป็นต้น
ห้ามพลาดเส้นทางศึกษาธรรมชาติกว่า 10 เส้นทาง และจุดสูงสุดของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางที่มีความสูง 1,928 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งมีต้นกุหลาบพันปีซึ่งออกดอกปีละหนึ่งครั้งในเดือนธันวาคม
สถานีเกษตรอ่างขางมีที่พักให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นบ้านพัก หรือลานกางเต๊นท์ให้เช่านอน โดยห้องพักในสถานีเกษตรหลวงสามารถจองได้ที่เบอร์โทร. 053-450-107-9 ติดต่อบ้านพักกด 114
เที่ยวป่าบนดอย
คุณสามารถเดินเที่ยวชมบริเวณทางเดินป่าระยะสั้นประมาณ 2 กิโลเมตรโดยรอบอ่างขางได้ระหว่างทางมีน้ำตกเล็กๆ และต้นกุหลาบพันปีด้วย
กิจกรรมดูนกหายากบริเวณหน่วยจัดการต้นน้ำแม่เผอะ เช่น นกพญาไฟ ขี่ฬ่อเข้าป่าชั่วโมงละ 300 บาท คุณสามารถติดต่อได้บริเวณร้านค้าหน้าทางเข้าสถานีเกษตร หรือนั่งชมวิวที่จุดกิ่วลม มองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตกยามอัสดง ชื่นชมไอหมอกลัดเหลี่ยมเขา เส้นทางขึ้นดอยอ่างขาง อำเภอฝาง และบริเวณใกล้เคียง
นอกจากนั้น ยังมีหมู่บ้านชาวเขาให้คุณเยี่ยมชมและซื้อสินค้าจากคนในพื้นที่เอง เช่น
* หมู่บ้านหลวงของชาวจีนฮ่อที่อพยพมาจากประเทศจีน มีร้านอาหารจีนและข้าวซอยยูนนานแสนอร่อย
* หมู่บ้านนอแลของชาวปะหล่องอพยพมาจากพม่า มีหัตถกรรมสิ่งทอมากมายใกล้ชายแดนไทยพม่า สามารถเช่าจักรยานขี่จากหมู่บ้านคุ้มมายังหมู่บ้านนอแลได้
* หมู่บ้านขอบด้ง สัมผัสชีวิตของเผ่าลาหู่ ซื้อสินค้ากำไรหญ้าอิบูแค โดยมีมัคคุเทศน์น้อยนำเที่ยวด้วย
เส้นทางสู่อ่างขาง
จากตัวเมืองเชียงใหม่ ให้คุณใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ซึ่งจะผ่านแม่ริม แม่แตง เชียงดาว สาย 107 โดยมีทางแยกไปดอยอ่างขาง 2 เส้นทางด้วยกันคือ
1. เลี้ยวซ้ายที่กิโลเมตรที่ 79 เป็นเส้นทางใหม่ไม่ชันมาก ใช้ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร
2. จะมีทางแยกซ้ายที่กิโลเมตรที่ 137 จะย่นระยะทางเหลือประมาณ 25 กิโลเมตร แต่ว่ามีความชันสูง รถทุกชนิดขึ้นได้...ถ้ามีฝีมือพอ แต่ถ้าไม่แน่ใจจะสามารถจอดรถไว้ที่ทางขึ้นดอยได้ ค่าจอดคันละ 50 บาท แล้วนั่งสองแถวหรือเหมารถขึ้นไปจะดีกว่า
หรือจากเชียงใหม่จะใช้อีกเส้นทางหนึ่งคือสาย 1089 โดยเลย อ.ไชยปราการ ประมาณ 8.5 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายขึ้นดอยอ่างขางตามเส้นทาง 1249 ซึ่งเป็นเส้นทางที่ชันและหวาดเสียวที่สุดในประเทศไทย

27 มีนาคม 2556

ตามรอยโครงการาตามพระราชดำริ ตอน... สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง


ตามรอยโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ตอน... สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

สายลมเย็นๆ เริ่มพัดพามาแล้ว หอบเอากลิ่นดินที่เพิ่งหมดฝนไปหมาดๆ มาเต็มจมูก ทำให้เวลานี้ เราคิดถึงการเดินทางที่แสนไกลและคุ้นเคย เมื่อหน้าฝนครั้งนี้มาถึง เราจึงจะกลับไปเยือนถิ่นที่เราเคยเดินทาง เพื่อขอกลับไปซึมซับความงดงามและคุณค่าของดินแดนที่ห่างไกลนี้อีกครั้ง ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
คุณค่าและความงดงามของสถานีหลวงเกษตรอ่างขาง
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางแห่งนี้ นับว่าเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2512 ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย ทำให้สถานีเกษตรหลวงอ่างขางแห่งนี้ จึงเป็นสถานีที่ทดลอง ค้นคว้า และวิจัยพืชเมืองหนาว เพื่อนำผลการทดลอง ค้นคว้า และวิจัยไปส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาในพื้นที่ปลูกทดแทนฝิ่น
ภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เราจะพบเห็นพันธุ์ไม้เมืองหนาวสวยงามมากมาย แปลงทดลองปลูกไม้ผลเมืองหนาว อาทิ พีช บ๊วย พลับ สาลี่ พลัม กีวี่ฟรุต ราสเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ หยางเมย เป็นต้น โรงเรือนไม้ดอก สวนบอนไซ โรงเรือนรวบรวมพันธุ์กุหลาบตัดดอกสายพันธุ์ โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผักเมืองหนาว จัดแสดงพันธุ์ผักเมืองหนาวชนิดต่างๆ ที่ปลูกในพื้นที่โครงการหลวง เช่น ผักตระกูลสลัดหลายชนิด ผักตระกูลกะหล่ำ ผักตระกูลมะเขือ ผักตระกูลถั่ว และผักตระกูลแครอท รวมทั้งยังมีผักแปลกใหม่หลายชนิด เช่น สวิสชาร์ด รูบาร์บ อาติโช๊ค และสมุนไพรต่างประเทศ อาทิ โรสแมรี่และลาเวนเดอร์ สวนกลางแจ้ง ซึ่งเป็นสวนที่ตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้แตกต่างกันตามความเหมาะสมของฤดูกาล โดยแบ่งเป็นสวนต่างๆ อาทิ สวนแปดสิบ สวนดอยคำ สวนหอม สวนสมเด็จ และสวนกุหลาบอังกฤษ เป็นต้น และที่พลาดไม่ได้สำหรับฉันก็คือ ร้านกาแฟดอยคำ ชิมเอสเพรสโซ่เย็นๆ เมล็ดกาแฟจากโครงการหลวง ท่ามกลางสวนพันธุ์ไม้กับอากาศดีๆ สุขใจเหลือล้น หรือเกิดอาการหิวขึ้นมาก็สามารถซื้ออาหารได้จาก สโมสรอ่างขาง อิ่มอร่อยกันไป
จุดกางเต้นท์ และเดินเล่นที่ "บ้านคุ้ม"
บ้านคุ้ม เป็นหมู่บ้าน ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าสถานีฯ อ่างขางเลย บรรยากาศจะเหมือนเดินอยู่ในเมืองจีน เพราะที่นี่ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ไทใหญ่ และมูเซอดำบางส่วน ที่นี่ยังมีบริการที่พัก และสามารถหาของกินได้มากมาย อาทิ ขาหมูยูนนาน หมันโถวร้อนๆ บะหมี่สดยูนนาน ผลไม้แปรรูป ชาต่างๆ และเพื่อให้ได้อารมณ์สุดๆ ก็คือ การกางเต้นท์นอน ในโรงเรียนบ้านคุ้ม ซึ่งสามารถยืมชุดเครื่องนอนในโรงเรียนได้ แล้วก็หย่อนเงินลงกล่องบริจาคให้โรงเรียนแทน จากนั้นพอตกดึก เราก็สามารถก่อกองไฟ สำหรับการคลายหนาวลงไปได้บ้าง พอรุ่งสาง เราสามารถใช้บริการมัคคุเทศก์ตัวน้อย เพื่อให้พาไปเที่ยวในสถานที่ใกล้เคียงอื่นๆ ได้อีกด้วย อาทิ จุดชมพระอาทิตย์ขึ้น ไร่สตรอเบอร์รี่ ไร่ชา หมู่บ้านขอบด้ง บ้านนอแล พระธาตุดอยอ่างขาง เป็นต้น รับรองว่า เด็ด!
"บ้านนอแล" 1 ใน 9 หมู่บ้านที่เป็นเขตส่งเสริม และพัฒนาอาชีพ รอบๆ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หากมาที่นี่แล้ว สถานที่มากมายเหลือเกินที่ต้องแวะไปให้ได้ โดยเฉพาะที่ บ้านนอแล ซึ่งมีชาวเขาเผ่าปะหล่องอาศัยอยู่ โดดเด่นด้วยการแต่งกายของชาวปะหล่อง และจะต้องแวะขึ้นไปที่ฐานปฏิบัติการนอแล เพื่อไปยืนอยู่จุดสุดเขตประเทศไทยที่เป็นส่วนชายแดนไทย - พม่า ชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม แล้วคุณจะรู้สึกว่า ตัวคุณเล็กนิดเดียว เมื่ออยู่ท่ามกลางสถานที่แห่งนี้
จริงๆ แล้วที่ดอยอ่างขางแห่งนี้ ยังมีเรื่องราวและสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายให้ไปสัมผัส ทั้งความสวยงามของบรรยากาศ คุณค่าที่ชาวบ้านในท้องถิ่นได้รับจากโครงการหลวงแห่งนี้ ที่ทำให้ชาวบ้านเลิกปลูกฝิ่น แล้วหันมาปลูกสตรอเบอร์รี่ ชา และไม้ผลเมืองหนาวอื่นๆ แทน ใครยังไม่เคยไป ขอแนะนำว่า ต้องไป! แล้วคุณจะรักดินแดนแห่งนี้ เหมือนกับที่หลายๆ คนหลงรัก รวมทั้งตัวฉันเอง
การเดินทาง: จากจังหวัดเชียงใหม่มายังปากทางขึ้นดอยอ่างขาง สามารถไปขึ้นรถได้ที่ คิวรถช้างเผือก มีทั้งรถตู้ (ราคา 150 บาท) และรถบัสคันใหญ่ (ราคา 85 บาท) พิเศษตรงที่ทางขึ้นอ่างขาง กม.137 มีรถคิวสองแถว บริการ รับ-ส่ง นักท่องเที่ยวที่ไม่ขับรถขึ้นดอยเอง
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หมู่ 5 ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โทร. 0 5345 0107-9 หรือศูนย์บริการนักท่องเที่ยวสถานีฯ อ่างขาง โทร. 0 5345 0077
ข้อมูล www.angkhangstation.com