15 พฤษภาคม 2556

WISH US LUCK ขอให้เราโชคดี ที่เมเจอร์เชียงใหม่


WISH US LUCK ขอให้เราโชคดี  ที่เมเจอร์เชียงใหม่



 ฉายที่จังหวัดเชียงใหม่...ชาวเชียงใหม่หรือท่านที่ไปท่องเที่ยวเชียงใหม่ ไปแวะชมกันด้วยนะครับ

ท่องไปในขบวนรถไฟสายภาพยนตร์กับ Wish Us Luck
หมุดหมายแรกๆ ของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ คือ ผลงานของพี่น้องลูมีแยร์ที่บันทึกภาพขบวนรถไฟขณะกำลังวิ่งเข้าจอดยังชานชาลา
ประสบการณ์ของคนดูหนังในยุคนั้น จึงได้แก่ การจ้องมองรถไฟกำลังวิ่งเข้าหาตนเองจากจอภาพยนตร์
เมื่อรถไฟถูกเราจ้องมอง ยานพาหนะประเภทนี้จึงมีสถานะเป็น ‘วัตถุ’ ที่แยกขาดออกจาก ‘ตัวเรา’ ทั้งในฐานะ ‘คนทำหนัง’ ซึ่งมองภาพรถไฟผ่านกล้องถ่ายภาพยนตร์ และ ‘คนดูหนัง’ ซึ่งนั่งมองภาพรถไฟวิ่งอยู่ในจอ
กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ชมหนังสารคดีเรื่อง Wish Us Luck หรือ ‘ขอให้เราโชคดี’ ฝีมือการกำกับของ วรรณแวว-แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ พี่น้องฝาแฝดที่เคยสร้างผลงานน่าจดจำไว้หลายชิ้นในเวทีการประกวดภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทย
วรรณแวว-แวววรรณเดินทางไปศึกษาต่อที่อังกฤษและเลือกทำงานจบเป็นหนังสารคดีบันทึกการเดินทางกลับบ้านด้วยรถไฟจากลอนดอนมาถึงกทม. ภายในระยะเวลา 1 เดือน
โดยมีฝรั่งเศส, เยอรมนี, รัสเซีย, มองโกเลีย, จีน, เวียดนาม และลาว เป็นทางผ่าน
ทั้ง ‘รถไฟ’ และการทำงาน ‘ภาพเคลื่อนไหว’ ล้วนแสดงให้เห็นว่า Wish Us Luck ได้รับมรดกตกทอดมาจากภาพยนตร์ยุคแรกเริ่มแน่ๆ
แต่ภาพยนตร์ของวรรณแวว-แวววรรณก็มีจุดต่างจากผลงานของบรรพบุรุษอย่างสำคัญ
กล่าวคือ สองพี่น้องหงษ์วิวัฒน์ไม่ได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองและคนดูให้เป็นฝ่ายจ้องมอง ‘รถไฟ’ ในฐานะวัตถุที่แยกขาดออกจากตัวพวกเขา/เธอ
ตรงกันข้าม คนทำหนังกลับร่วมเดินทางไกลไปกับขบวนรถไฟ ยานพาหนะชนิดนี้จึงค่อยๆ หลอมรวมเข้ากับ ‘อัตวิสัย’ ของพวกเธอ ขณะที่คนดูหนังซึ่งเฝ้าชมการเดินทางของคู่แฝดอย่างใกล้ชิด ก็มิได้มองเห็นรถไฟเป็น ‘วัตถุวิสัย’ ที่ดำรงอยู่อย่างแปลกแยกหรือเหินห่างจากมนุษย์
หากพิจารณาในแง่ ‘ความเป็นภาพยนตร์’ สารคดีของวรรณแวว-แวววรรณก็มีความพยายามที่จะยั่วล้อกับ ‘บรรทัดฐานดั้งเดิมของความเป็นภาพยนตร์’ อยู่มากพอสมควร
ดังจะเห็นได้จากลูกเล่นหลายต่อหลายครั้งที่สองพี่น้องย้ำให้ผู้ชมตระหนักว่านี่เป็นหนังนะ นี่ถูกถ่ายทำขึ้นมานะ นี่เป็นเรื่อง ‘เฟค’ นะ ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่คนดูหนังเรื่อง Wish Us Luck กำลังจ้องมองอยู่จึงมิใช่ภาพเคลื่อนไหวที่จริงใจ ปราศจากการปรุงแต่ง และเป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ดังที่ภาพยนตร์ของพี่น้องลูมีแยร์มักถูกเข้าใจเช่นนั้น
เมื่อพิจารณาในแง่ความเป็นหนังแนวโร้ดมูวีที่มักลงรอยกับโครงเรื่องว่าด้วย ‘พิธีกรรมการเปลี่ยนผ่าน’ หรือ การเติบโต-เรียนรู้ เพื่อก้าวข้ามเข้าสู่อีกช่วงวัยหนึ่ง
‘ขอให้เราโชคดี’ ก็ได้ผ่อนคลายตัวเองจากกรอบดังกล่าวอย่างชัดเจน แต่ใช่ว่าหนังสารคดีเรื่องนี้จะปราศจากเรื่องราวใดๆ เลย
เพราะหนังสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ของการได้พบเห็นในสิ่งที่บรรดานักเดินทางไกลไม่เคยคาดคิดว่าพวกตนจะมีโอกาสพบเจอ ออกมาได้อย่างสนุกสนานชวนติดตาม
(หนึ่งในช่วงที่ดีมากของหนังเรื่องนี้ คือเหตุการณ์ที่มีหนุ่มต่างชาติมาจีบหนึ่งในสองสาว)
ขณะเดียวกัน หนังก็สลัดตัวเองออกจากอารมณ์โรแมนติก เมื่อพี่น้องสองสาวไม่ได้พยายามฟูมฟายหรือทำความเข้าใจลึกซึ้งกับเมืองต่างๆ ที่พวกเธอเดินทางผ่านเพียงชั่วขณะสั้นๆ อย่างมากล้นเกินเลย
วรรณแวว-แวววรรณทำลายความฝันแสนหวานเกี่ยวกับหอไอเฟล, บันทึกแง่มุมที่ไม่จำเป็นต้องถูกจดจำของเบอร์ลิน และไม่ได้พยายามมีความสุขหรือเรียนรู้ไวยากรณ์ของเสียงแตรรถในฮานอย
แต่คู่แฝดนักทำหนังก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์ลึกซึ้งกินใจออกมาในช่วงที่พวกเธอคุยโทรศัพท์ทางไกลกับคุณยาย และตั้งคำถามเรื่องประชาธิปไตยกับเพื่อนชาวจีนที่ปักกิ่งได้อย่างแหลมคม
‘Wish Us Luck – ขอให้เราโชคดี’ จึงเป็นบันทึกภาพเคลื่อนไหวของนักทำหนัง 2 คนที่เก็บเกี่ยวเรื่องราวรายทางได้อย่างมีสีสันและท้าทายขนบบางประการของโลกภาพยนตร์
เมื่อวรรณแวว-แวววรรณเดินทางกลับถึงบ้านเกิด หนังเรื่องนี้ก็จบตัวเองลงท่ามกลางความพร่าเลือน เช่นเดียวกับที่เราไม่อาจรู้ได้ว่าขบวนรถไฟของโลกภาพยนตร์จะเดินทางไปไหนอีกในอนาคต
ทว่าอย่างน้อย คนดูคงพอตระหนักได้ว่า ‘ขบวนรถไฟ’ สายนี้ เดินทางมาไกลจากจุดเริ่มต้นมากแล้ว

รอบฉาย Wish Us Luck ที่เมเจอร์เชียงใหม่

16 - 17 พค.  หนังฉายรอบ 20.00 น.
18 - 19 พค.  หนังฉายรอบ 15.00 น. และ 20.00 น.

พิเศษ! ขอเชิญพูดคุยกับผู้กำกับหลังหนังจบ ในวันที่ 18 พค. รอบ 15.00 น. และ 20.00 น.

ติดตามเรื่องราวจังหวัดเชียงใหม่ได้ที่: http://travel.sanook.com/thailand/chiangmai/
เรียบเรียง : http://chiangmainice.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น