29 มีนาคม 2556

ทางฝัน ดอยหลวงเชียงดาว... มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต


2...
    การเดินทางขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาว เชียงใหม่ปัจุบันเปิดให้ขึ้น-ลงสองเส้นทางด้วยกันคือ เส้นทาง “ปางวัว” และ “เด่นหญ้าขัด” ( หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก ) ทั้งสองเส้นระยะทางแตกต่างกัน กล่าวคือ ปางวัวจากจุดเดินเท้าระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ส่วนเด่นหญ้าขัด ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร เส้นทางนี้จะไกลกว่า และยังต้องนำรถไปส่งจุดเดินเท้าซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาวหลายสิบกิโลฯด้วยกัน หรือใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และในฤดูฝนรถที่เข้าไปส่งจะต้องเป็นรถประเภทขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น ส่วนเส้นทางปางวัวอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการเขตฯ ใช้เวลาเพียง 20 นาที เป็นถนนราดยางสะดวกสบายจนถึงจุดเดินเท้า เส้นทางปางวัว จึงได้รับความนิยมกว่าเด่นหญ้าขัด แต่ถ้าไม่รวมระยะทางรถยนต์ ทั้งสองเส้นใช้เวลาเดินเท้าพอๆ กัน

      ขณะที่ทางเด่นหญ้าขัดก็มีความโดดเด่นทางภูมิประเทศที่ไม่เหมือนทางปางวัว กลายเป็นจุดดึงดูดใจไม่น้อยทีเดียวกล่าวคือ จากจุดเริ่มต้นหน่วยฯ เด่นหญ้าขัด หรือ ขุนห้วยแม่กอก ลัดเลาะผ่านเส้นทางที่ต้องเดินบนสันเขามองเห็นทิวทัศน์ในมุมกว้าง และเดินอยู่ท่ามกลางดงสนสามใบ เพลิดเพลินกับการชมทิวสน ฟังเสียงทิวสนปะทะลมจนเกิดเป็นท่วงทำนองเสียงธรรมชาติไพเราะเสนาะหู บางช่วงต้องลุยป่าหญ้าคาที่สูงท่วมหัว ซึ่งบริเวณเหล่านี้หรือหลายๆ ที่ในอดีตเคยเป็นไร่ฝิ่นของชาวม้งมาก่อน คนที่เคยมาเยือนเชียงดาวเมื่อสิบกว่าปีก่อน จะได้พบเห็นไร่ฝิ่นที่ออกดอกสะพรั่งทั่วหุบดอย ว่ากันว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีการปลูกฝิ่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย แต่ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือร่องรอยให้เห็น ตลอดเส้นทางไม่ชันมากนัก ทำให้ความต่างของระยะทางเทียบกับปางวัวแล้วใช้เวลาเดินพอๆ กัน

    ทางด้าน ปางวัว จะชันกว่าเล็กน้อย แต่สะดวกในการนำรถมาส่งที่จุดเริ่มต้น จากนั้นเดินไต่ขึ้นเขาจนถึงดงไผ่หกและเดินทางราบในหุบเขาจนถึงดงกล้วย ซึ่งบริเวณดงไผ่หก จะเป็นจุดที่ทางเขตฯ อนุญาตให้กางเต็นท์พักแรมค้างคืนได้สำหรับกรณีที่ต้องการแบ่งช่วงครึ่งทางของการเดิน แต่ถ้าเดินรวดเดียวถึงแค้มป์อ่างสลุงใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง เช่นเดียวกับเส้นทางเด่นหญ้าขัด โดยทั้งสองเส้นทางจะมาบรรจบกันระหว่างครึ่งทาง หรือเลยแค้มป์ดงกล้วยมาเล็กน้อย...ไหนๆ มาถึงเชียงดาวทั้งที ต้องเดินให้ครบทั้งสองเส้นทาง ผมและชาวคณะมิตรสหายจึงวางแผนเดินขึ้นทางปางวัว เดินรวดเดียวให้ถึงแค้มป์อ่างสลุง ค้างบนนี้สักสองคืนแล้วขากลับเลือกลงทางเด่นหญ้าขัด

   
     ...ต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนเริ่มต้นที่ทางเขตรักษาพันธุ์ฯ เชียงดาว กำหนดเปิดให้นักท่องเที่ยวเชียงใหม่สามารถขึ้นไปเที่ยวชมศึกษาธรรมชาติบนดอยหลวงเชียงดาว จนถึงเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี เพื่อให้ป่าได้พักฟื้นตลอดช่วงฤดูฝน และเหมือนว่าปีนี้ฟ้าฝนอากาศผิดแปลกไป ฝนยาวล่วงเลยมาถึงต้นเดือนพฤศจิกายน พอหมดฝนอากาศหนาวขึ้นมาทันที เข้าหนาวได้สองสามวันอุณหภูมิลดฮวบๆ จนทำให้บนยอดดอยสูงๆ อากาศหนาวเย็นสุดขั้ว ยอดดอยสูงสุดของประเทศอย่างอินทนนท์อุณหภูมิลดต่ำสุดถึง 0 องศา เกิดปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งหรือแม่คะนิ้ง
    ขณะเดียวกันที่เชียงดาวก็ดูจะไม่ต่างสักเท่าไหร่ และก็เป็นช่วงเดียวกันที่พวกเราเดินทางมาตรงกับความหนาวนี้พอดี มันจึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่นอนกับการเผชิญความหนาวบนยอดดอยแห่งนี้ ขนาดแค่ช่วงวันระหว่างที่เราเดินอยู่นั้น แสงแดดแผ่จ้าเท่าไหร่แต่มันก็ไม่รู้สึกถึงความร้อน มันเหมือนว่าพลังแสงแดดคงไม่อาจต้านทานความหนาวเย็นนี้ไปได้ แต่กลับทำให้พวกเราเดินกันอย่างสบายไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป แม้ว่าบางช่วงของเส้นทางชันที่เราต้องใช้เรี่ยวแรง เรียกเหงื่อขับความร้อนจากร่างกายปะทะความเย็นรายรอบตัว ไม่นานความร้อนความเหนื่อยนั้นก็หายไปในบัดดล จะหลงเหลือก็ความเมื่อยเขม็งตรึงของกล้ามเนื้อบริเวณขา พาให้หยุดพักหลายช่วงด้วยกัน ดูเหมือนพวกเราจะมีความสุขในสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ แต่ก็ไม่อยากนึกถึงเวลาค่ำคืน ซึ่งมันจะหนาวเหน็บเพิ่มเป็นทวีคูณแค่ไหน    

     ระหว่างพักหลายคนสนุกกับการพูดคุยหยอกล้อ และบางคนรวมถึงผมต่างง่วนอยู่กับการบันทึกภาพ ซึ่งมีให้หยุดคว้ากล้องออกจากกระเป๋าเป็นระยะทางเดินช่วงชั่วโมงแรกมองออกไปทิศตะวันตก เห็นหมู่บ้านตั้งโดดเด่นอยู่บนเนิน คือบ้านนาเลา ชุมชนชาวลีซอ กลุ่มชาวเขาที่ยังอาศัยอยู่รอบๆ ป่าเชียงดาว และชาวลีซอ บางส่วนก็มารับจ้างแบกหามสัมภาระนักท่องเที่ยวขึ้นดอย เช่นเดียวกับชาวบ้านจากบ้านถ้ำที่เป็นลูกหาบสมัยแรกๆ ของการท่องเที่ยวธรรมชาติบนเชียงดาว คนที่นี่หรือชาวบ้านรอบๆ ป่าเชียงดาวนอกจากมีอาชีพเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไปแล้ว ช่วงฤดูท่องเที่ยวเชียงดาว เขาจะมีรายได้จากการเป็นลูกหาบ บางคนมีรายได้หลายหมื่นบาทตลอดห้าเดือน นับเป็นรายได้พอเลี้ยงตัวและไม่มีต้นทุนอะไร นอกจากลงแรง อาศัยความขยันและอดทน
    นกชนิดแรกที่ทำให้เราได้หยุดดูคือ แซงแซวหัวขาว ส่งเสียงเจื้อยแจ้วอยู่บนยอดไม้หลายสิบตัวด้วยกัน คงได้ดูแต่ตาเพราะถ้าบันทึกภาพก็คงต้องใช้เลนส์ตัวโตๆ สัก 500 มม. นกชนิดต่อมาที่พบเห็นคือกลุ่มนกพญาไฟ เอกลักษณ์โดดเด่นอยู่ที่มีสีสันแดงสด และนกชนิดที่ตามมาติดๆ เมื่อเลยดงไผ่หกเพื่อไปยังดงกล้วย เราได้บันทึกภาพกันเต็มๆ และดูจะยอมให้ถ่ายภาพใกล้ๆ ไม่บินหนีไปไหน เพราะนกชนิดนี้ไม่ใช่สัตว์ หากมันคือ “เทียนนกแก้ว” ( Impatiens psittacina Hook. f. ) พันธุ์ไม้ในวงศ์เทียนที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายนกแก้วกำลังโผบิน จนเป็นที่มาของชื่อซึ่งใช้เรียกเทียนชนิดนี้
    เทียนนกแก้วเป็นพืชหายากชนิดหนึ่ง พบเฉพาะที่เชียงดาวและจีนตอนใต้ ขึ้นอยู่ในป่าดิบเขาตั้งแต่ความสูง 1,400-1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความแปลกที่คล้ายนกแก้วนี้เองทำให้กลายเป็นพันธุ์ไม้ที่ถูกกล่าวขวัญถึงของผู้คนที่เดินทางมาเยือนเชียงดาว หวังจะได้พบเห็นกับตาสักครั้ง ท่านใดอยากพบตัวเป็นๆ ก็ต้องมาช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พบมากบริเวณช่วงระหว่างเส้นทางดงไผ่หกถึงดงกล้วย และบริเวณอ่างสลุง
    ป่าเชียงดาวสามารถพบเห็นนกมากมายหลายชนิด เป็นที่นิยมของนักดูนกเส้นทางหนึ่งโดยเฉพาะเส้นทางเด่นหญ้าขัด จังหวะดีๆ ในเส้นทางนี้อาจได้เห็น ไก่ฟ้าหลังขาวกับไก่ฟ้าหางลายขวาง สัตว์ปีกซึ่งหาชมได้ยากในถิ่นอื่นแต่สามารถพบได้ที่นี่และไม่กี่แห่งในประเทศไทย ถัดจากดงกล้วยเดินทางราบชั่วครู่ก็ตัดขึ้นทางชันอีกเล็กน้อย บรรจบกับทางแยกระหว่างเด่นหญ้าขัดกับปางวัว ซึ่งมีป้ายบอกเส้นทางไว้ ขวาไปเด่นหญ้าขัด และซ้ายที่เราจะไปต่อคืออ่างสลุงหรือยอดดอย เดินเลาะไปตามไหล่เขาขึ้น-ลงเล็กน้อย และลงทางราบแอ่งหุบเขา มองเห็นยอดพีระมิดทางด้านซ้าย ยอดดอยสามพี่น้องทางด้านขวา และหันหลังกลับไปคือดอยหนอก
    ส่วนด้านหน้าคือกำแพงเขาหินปูนที่เราต้องข้ามผ่าน มองไปบนยอดกำแพงเขาหินปูนหรือแนวสันเขาเห็นต้นค้อดอย ( Trachycarpus oreophilus Gibbons& Spanner) ยืนต้นเป็นทิวแถวท้าทายสายลมแสงแดดอย่างน่าทึ่ง เวลาผ่านไปมากเท่าไหร่หรือเดินผ่านดอยสามพี่น้องลึกเข้าไป เมื่อมองย้อนกลับมาการมองเห็นรูปร่างของดอยสามพี่น้องก็จะชัดเจนขึ้น คือเห็นเป็นยอดดอย 3 ยอดเรียงซ้อนทำมุมทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ในช่วงบ่ายพอดี เกิดเป็นลำแสงส่องผ่านตามช่องระหว่างยอดทั้งสาม สร้างความรู้สึกถึงมิติลึกลับน่าเกรงขาม จนต้องหยุดมองและบันทึกภาพเป็นระยะ ทั้งสามยอดมีความสูงไล่เลี่ยกันโดยยอดที่สูงสุดคือ 2,150 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
    ช่วงสุดท้ายก่อนตัดข้ามเขาเพื่อมายังอ่างสลุงนั้น จะเป็นทางลาดชันที่ให้ต้องไต่เดินฉุดเรี่ยวแรงไม่น้อย มองไปรอบๆ สภาพป่าเป็นทุ่งหญ้าซึ่งโอบล้อมด้วยภูเขาหินปูน ตามไหล่เขาลงมาโขดหินน้อยใหญ่สีดำเทาผุดขึ้นแทรกออกมาจากดงหญ้าเป็นหย่อมๆ เหมือนมีใครนำมาตั้งเอาไว้จนเกิดเป็นประติมากรรมแท่งหินหรือสวนหินธรรมชาติที่แปลกตาชวนมองและจินตนาการ หนทางชันที่พาข้ามกำแพงเข้ามายังบริเวณที่ราบซึ่งเรียกว่า ดงเย็น ลักษณะเป็นหย่อมป่าดิบเขาที่เหลือรอดจากการบุกรุกทำไร่ฝิ่นสมัยก่อน
    บริเวณแถบนี้พบพันธุ์ไม้หลายชนิด ได้แก่ เอสเตอร์เชียงดาว กลีบดอกสีขาวเล็กๆ เรียงซ้อนกันมีเกสรสีเหลือง,บัวคำ หรือ บัวทอง ดอกสีเหลืองสด, เหยื่อจง ดอกมีสีขาวรูปร่างสั้นป้อม เมื่อก้าวออกป่าดิบเขาพื้นที่โล่งเตียนเดินไปตามทางตัดผ่านดงต้นสาบเสือ ที่โดนแม่คะนิ้งหรือน้ำค้างแข็งเมื่อคืนก่อนเกาะจนทำให้ตามใบปรากฏสีดำไหม้เป็นวงกว้าง เดินผ่านมาได้สักครู่เห็น ชมพูพิมพ์ใจ ออกดอกช่อใหญ่สีชมพูสดสะดุดตาตัดกับสีครามของท้องฟ้า นับเป็นอีกหนึ่งพันธุ์ไม้เด่นบนเชียงดาวนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น