29 มีนาคม 2556

ทางฝัน ดอยหลวงเชียงดาว... มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต 1


 

    ในบรรดายอดเขาสูงอันดับต้นๆ ของเมืองไทย “ดอยหลวงเชียงดาว” เชียงใหม่ นับว่ามีรูปร่าง ลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่นกว่าใครเพื่อน เขาหินปูนหยึกหยักตระหง่านเงื้อม เมื่อมองจากบริเวณใดใกล้ไกล ยอดดอยแห่งนี้ก็คงความแปลกตาชวนมองยิ่งนัก เชียงดาวเผยโฉมให้เห็นได้ในหลายสถานที่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบนทางหลวงหมายเลข 107 ซึ่งผมเคยนั่งรถผ่าน ห้วยน้ำดังสถานที่ชื่อดังแห่งการชมทะเลหมอก ที่นี่ในยามเช้าเราจะพบสายหมอกล่องลอยอยู่กลางหุบเขาโดยมียอดเชียงดาวสูงตระหง่านเด่นเคียงคู่กัน กลายเป็นภาพคุ้นเคยและเป็นดั่งสัญลักษณ์ของสถานที่นี้ ตลอดจนการมองเชียงดาวในที่ห่างไกลอย่างบนยอดดอยลังกาหลวง ซึ่งมีความสูงอันดับห้าของประเทศแห่งอุทยานแห่งชาติขุนแจ ก็คงค้นพบว่ามันยังไม่ลดความยิ่งใหญ่ลงแม้แต่น้อย.... เชียงดาวที่มองจากภายนอกจึงโดดเด่นกว่ายอดเขาใดๆ
    เชียงดาว...ในความรู้สึก ความประทับใจที่สัมผัสนั้น ส่วนตัวผมจึงมีทั้งการมองเห็นจากภายนอกและสัมผัสเห็นจากภายใน โดยส่วนของภายในนั้นผมกำลังหมายถึง การก้าวเท้าสู่ยอดดอยแห่งนี้ ดินแดนที่มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต

1...
    สถิติความสูง 2,275 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงเป็นอันดับสามของประเทศ แต่หากความสูงนี้หาใช่เรื่องสำคัญที่ทำให้ดอยหลวงเชียงดาวกลายเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำของนักเดินทาง หากมันคือ การดำรงอยู่ของความงดงามอันน่าอัศจรรย์ของโลกธรรมชาติ ทำให้เราบากบั่นขึ้นมาเรียนรู้ มาเยี่ยมเยือนบ้านของพันธุ์ไม้ถิ่นเดียวและพรรณไม้หายากที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลก สร้างประสบการณ์การเดินทางอันน่าจดจำ
   

     ....จุดกำเนิดของเทือกเขาเชียงดาว เกิดจากการทับถมของตะกอนทะเลและซากสัตว์ต่างๆ ใต้ท้องทะเล ซึ่งสันนิษฐานว่าในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นท้องทะเลมาก่อน ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงมีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก จนทำให้แผ่นดินยกตัวขึ้นเป็นภูเขา เป็นแอ่ง และหุบเขา เรียกว่ายุคเพอร์เมียน มีอายุราวกว่าสองแสนล้านปีมาแล้ว เทือกเขาดอยเชียงดาวซึ่งเป็นเขาหินปูนจึงมีลักษณะเฉพาะ เนื่องจากโดยรอบเป็นหน้าผาชัน และบางแห่งยังมีมุมตั้งฉากกับพื้นโลก สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการทรุดตัวเป็นแนวเลื่อน แนวตรงของโครงสร้างทางธรณีวิทยา และยังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการกำเนิดชนิดของสังคมพรรณพืช บริเวณที่หน้าดินลึกสามารถพบไม้ต้นขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ส่วนบนพื้นหินปูนจะเป็นไม้พุ่มเตี้ยและไม้ล้มลุก เนื่องจากหน้าดินมีน้อยและตื้น รวมทั้งดินมีความเป็นด่างสูง ชนิดพืชที่ขึ้นได้ส่วนใหญ่จึงเป็นชนิดพิเศษจริงๆ

 


     สังคมพืชบนดอยหลวงเชียงดาวมีลักษณะแตกต่างจากสังคมพืชในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ แม้กระทั่งในเขตพื้นที่ภาคเหนือด้วยกันเอง ตามปกติแล้วยอดเขาที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 2,000 เมตร จะปรากฏเป็นสังคมพืชป่าดิบเขา และป่าดิบชื้นแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นป่าโบราณในเขตยอดดอยสูงสุดของเทือกเขาอินทนนท์ หรือแม้กระทั่งดอยผ้าห่มปก ดอยลังกาหลวง และ ดอยโมโกจู ฯลฯ ล้วนตรงกันข้ามกับดอยหลวงเชียงดาวอย่างสิ้นเชิง
    การเป็นเทือกเขาหินปูนขนาดใหญ่ของดอยหลวงเชียงดาว ก่อให้เกิดสังคมพืชที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่สามารถพบเห็นได้ในที่อื่นๆ ที่เรียกว่าสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ซึ่งในวันนี้ใครขึ้นไปเชียงดาว ไม่พูดถึงเรื่องพืชกึ่งอัลไพน์ คงจะต้องเป็นคนที่เชยทีเดียว
    เหตุที่ต้องใช้คำว่า “กึ่ง” เนื่องมาจากว่าสังคมพืชอัลไพน์ ที่แท้จริงนั้น ตามปกติจะพบเห็นได้ในเขตหนาว หรือถ้าเป็นเขตร้อนก็ต้องเป็นภูเขาที่สูงมากกว่า 3,500 เมตร ยิ่งใกล้กับเส้นศูนย์สูตรเท่าไหร่ ภูเขาที่จะเกิดอัลไพน์ได้ก็ยิ่งต้องสูงมากขึ้นเท่านั้น
    สมาชิกในสังคมพืชอัลไพน์ นั้นไม่ปรากฏพืชที่เป็นไม้ยืนต้นอยู่เลย นั่นเป็นเพราะสภาพอากาศหนาวเย็นจัดและลมแรง แต่สำหรับบนดอยหลวงเชียงดาว กลับพบว่ามี ค้อเชียงดาว และ ไม้ก่อ อีกหลายชนิด ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขึ้นปะปนกับไม้เล็กอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของการใช้คำว่า กึ่งอัลไพน์
    การเกิดขึ้นของสังคมพืชกึ่งอัลไพน์บนยอดดอยหลวงเชียงดาวจึงเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะปัจจัยต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบต้องสมบูรณ์จริงๆ เท่านั้น และจากการศึกษาทางพฤกษศาสตร์ของนักวิชาการทำให้ทราบว่า บนพื้นที่นี้เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้เขตอบอุ่น ซึ่งกระจายพันธุ์มาจากทางตอนเหนือของทวีป โดยเป็นการนำพาของลมที่พัดลงมาทางใต้ ซึ่งได้หอบเอาเมล็ดไม้จำนวนหนึ่งมาติดค้างอยู่บนดอยแห่งนี้ ทำให้พวกมันหยั่งรากเติบโตอยู่บนดอยเชียงดาว ดังจะเห็นได้จากพืชหลายๆ ชนิดมีลักษณะคล้ายหรือเป็นชนิดเดียวกับที่พบในเขตเทือกเขาหิมาลัย และเนื่องจากบริเวณสันเขาเกิดการก่อตัวของภูเขาหินปูนที่มีชั้นดินเก็บกักน้ำได้น้อย จึงเป็นปัจจัยทำให้การสร้างระบบนิเวศจำเพาะขนาดเล็กแก่พืชบางชนิดให้สามารถขึ้นอยู่ได้ หลังจากนั้นเมื่อพืชดังกล่าวมีการปรับตัวจนขึ้นอยู่ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็เป็นการนำไปสู่การแตกให้ประชากรกลายพันธุ์จนแยกเป็นชนิดใหม่มากมาย และมีจำนวนไม่น้อยไม่พบเจอในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก
    ดอยหลวงเชียงดาวมีระดับความสูงเพียง 2,275 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่กลับมีพรรณพืชที่มีในถิ่นเดียว และหาพบยากของโลกมากมาย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 นักพฤกษศาสตร์คนแรก คือ Dr. C.C. Hosseus ขึ้นมาสำรวจพันธุ์ไม้บนดอยหลวงเชียงดาว และต่อด้วยนักพฤกษศาสตร์หลายคนจนถึงวันนี้ สำรวจพบว่า ดอยหลวงเชียงดาวมีพรรณพืชอย่างน้อย 1,722 ชนิด โดยกว่า 50 ชนิดเป็นพืชถิ่นเดียว ไม่พบที่ไหนอีกในโลก
    พรรณไม้ที่พบเห็นบนดอยเชียงดาวในแต่ละฤดูกาลมีความแตกต่างกันออกไป แต่ไม่มีช่วงใดที่พรรณไม้นานาชนิดบานสะพรั่งมากเท่าปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว หรือ ราวปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นไป และช่วงฤดูกาลดังกล่าวก็ยังเป็นช่วงที่ท้องฟ้าสดใส สร้างปรากฏการณ์ในการชมทิวทัศน์บนดอยหลวงเชียงดาวได้อย่างสวยงามที่สุดเช่นกัน พันธุ์ไม้ที่ผลิดอกช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็น ชมพูเชียงดาว ชมพูพิมพ์ใจ หรีดเลื้อยเชียงดาว เทียนนกแก้ว ฟองหินเหลือง คำขาวเชียงดาว ฟ้าคราม และขาวปั้น เป็นต้น เราสามารถพบเห็นพันธุ์ไม้เหล่านี้ตลอดเส้นทางเดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกิ่วลมและยอดสูงสุด ซึ่งจะพบเห็นได้มากที่สุด

   

    ...เชียงดาว หรือ “เพียงดาว และ เปียงดาว” ตามภาษาท้องถิ่น คือเทือกเขาหินปูนสูงที่สุดของประเทศ อดีตมีตำนานเล่าขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตของเหล่าเทพเทวดาที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ตามความเชื่อดังกล่าวทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้าย่างกรายขึ้นไปนัก จึงขนานนามเทือกเขาแห่งนี้ว่า เปียงดาว ซึ่งหมายถึงยอดเขาที่มีความสูงเทียมดาว แต่ต่อมาเรียกเพี้ยนว่า เพียงดาว และ เชียงดาว ในปัจจุบัน
    จากตำนานเรื่องราวในอดีตทำให้พื้นที่ของเชียงดาวสถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่เป็นความลี้ลับอยู่เนิ่นนาน จนกระทั่งได้มีการสำรวจและประกาศจัดตั้งให้เป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2521 นับแต่นั้นมาการเดินทางขึ้นดอยหลวงเชียงดาวของนักเดินทางจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวเกี่ยวกับดอยแห่งนี้ก็ได้รับการเผยแพร่ต่อสายตาสาธารณชนมากขึ้นเรื่อยๆ จนที่สุดกลายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายธรรมชาติที่สำคัญเส้นทางหนึ่งในบ้านเราจวบจนปัจจุบัน


    หากความเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สำคัญ โดยเฉพาะความหลากหลายของพรรณพืชที่หายากของโลก ซึ่งพันธุ์ไม้เหล่านี้ค่อนข้างเปราะบางตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าหลายชนิด แน่นอนว่าหากการเปิดให้เข้ามาเที่ยวชม อย่างไม่มีการจัดการที่ดีแล้วล่ะก็ ย่อมจะส่งผลทำลายสิ่งล้ำค่าเหล่านี้ไม่มากก็น้อย ความเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจึงมีกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ แตกต่างจากอุทยานแห่งชาติ ทำให้การกำหนดเส้นทางขึ้นมาเที่ยวชมบนดอยแห่งนี้มีความเข้มงวดและเป็นไปในทิศทางที่กำหนดซึ่งอยู่ภายใต้การจัดระบบอันสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และที่ “อ่างสลุง” เป็นบริเวณเดียวที่ใกล้ยอดดอยหลวงเชียงดาวที่สุด ซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นจุดตั้งแค้มป์ของเหล่านักเดินทาง.... เรื่องราวของการยลโฉมพรรณพฤกษา และยอดเขาสูงจึงเริ่มต้น ณ ตรงนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น